เวลาที่เราออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะเกิดขึ้น อาจส่งผลทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หัวเข่าได้ ในบางครั้งอาจเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อย หรือถึงขั้นรุนแรงก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น เส้นเอ็นไขว้หน้า หรือหลังหัวเข่าบาดเจ็บ, หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด, การอักเสบของถุงน้ำลดการเสียดสีในเข่า หรือ กระดูกหัก
 
ในบทความนี้เราจะมาโฟกัสกันที่เส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าบาดเจ็บ หรือที่เรียกว่า Anterior cruciate ligament injury (ACL injury) ในทางกายวิภาคศาสตร์เส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าจะอยู่บริเวณตรงกลางของหัวเข่า โดนจะเกาะจากกระดูกต้นขา หรือ Femur ไปที่กระดูกหน้าแข้ง หรือ tibial ซึ่งเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าจะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้กระดูก Tibial เคลื่อนที่ไปข้างหน้าภายใต้กระดูก Femur และทำหน้าที่ให้ความมั่นคงของข้อเข่า ในขณะที่บิด หรือหมุนข้อเข่า ถ้าเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าบาดเจ็บ จะส่งผลต่อความมั่นคงของข้อเข่า ปวด บวมบริเวณหัวเข่า ในบางรายที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรงอาจจะส่งผลถึงการฉีกขาดของหมอนรองข้อเข่าฉีกขาดร่วมด้วย
 
โดยปกติแล้วการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่ามักจะเกิดขึ้นขณะที่เล่นกีฬาอย่าง ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล หรือในขณะที่ทำกิจกรรมอย่างวิ่ง กระโดด หรือเตะ แล้วมีการเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน การบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าเกิดได้ 3 รูปแบบ
 
รูปแบบที่ 1: การปะทะโดยตรง (Direct contact)
เกิดจากการที่มีแรงจากภายนอกเข้ามาปะทะโดยตรงที่บริเวณหัวเข่า
 
รูปแบบที่ 2: การปะทะโดยอ้อม (Indirect contact)
เกิดจากการที่มีแรงจากภายนอกเข้ามาปะทะที่บริเวณอื่นของร่างกาย แต่ไม่ได้เข้ามาปะทะโดยตรงที่หัวเข่า
 
รูปแบบที่ 3: ไม่ได้เกิดจากแรงปะทะ (Non contact)
เกิดจากการที่มีแรงเกิดที่ข้อเข่าจากการเคลื่อนไหวของบุคคลนั้น โดยที่ไม่ได้มีการปะทะกับบุคคลอื่น หรือวัตถุใดๆ เช่น การกระโดด และมีการเปลี่ยนทิศทางไปด้านใดด้านหนึ่งกะทันหัน จะส่งผลทำให้เกิดแรงบิดภายในข้อเข่าขณะลงพื้น และเกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าได้ ซึ่งการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่ามักจะเกิดในรูปแบบที่ 3 นี้ถึง 70%
 

อาการ

  1. อาการปวด และบวมบริเวณข้อเข่า ในบางครั้งอาจเกิดภาวะเลือดออกภายในข้อเข่า
  2. ได้ยินเสียง pop ในข้อเข่า ขณะเกิดเหตุ
  3. รู้สึกไม่มั่นคงบริเวณหัวเข่า
  4. ไม่สามารถวิ่งซิกแซกได้ หรือวิ่งแล้วไม่สามารถหยุดได้ทันที เนื่องจากรู้สึกเหมือนข้อเข่าจะหลุด
 

ความรุนแรงของการบาดเจ็บ แบ่งออกมาได้ 3 ระดับ

 
ระดับที่ 1 มีภาวะฉีกขาดภายในเนื้อเยื่อของเส้นเอ็น แต่เส้นเอ็นยังไม่ยืด หรือขาด (Mild)
การบาดเจ็บในระดับนี้ จะเกิดภาวะฉีกขาดภายในเนื้อเยื่อของเส้นเอ็น ซึ่งไม่ส่งผลต่อสมรรถนะของเส้นเอ็นไปมากนัก (function loss) มีอาการปวด บวมรอบๆหัวเข่า
 
ระดับที่ 2 เส้นเอ็นฉีกขาดบางส่าน (moderate or partially torn)
การบาดเจ็บในระดับนี้จะเกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็นบางส่วน เสียสมรรถนะของเส้นเอ็นไปบางส่วน รู้สึกเจ็บในขณะที่เดิน ปวด บวม มีรอยเขียวช้ำบริเวณหัวเข่า ช่วงแรกอาจรู้สึกไม่มั่นคงในหัวเข่าบ้าง
 
ระดับที่ 3 เส้นเอ็นฉีกขาดออกจากกันอย่างสมบูรณ์ (severe or completely torn)
การบาดเจ็บในระดับนี้จะเกิดจากการฉีกขาดออกจากกันของเส้นเอ็น ทำให้สูญเสียสมรรถภาพของเส้นเอ็น ซึ่งมักจะมีการอาการปวด บวม มีรอยเขียวช้ำบริเวณหัวเข่า รู้สึกเหมือนข้อเข่าจะหลุดออกมา เนื่องจากขาดความมั่นคงของข้อเข่า โดยการบาดเจ็บในลักษณะนี้มักจะรักษาด้วยการผ่าตัด
 
 

การรักษา

การรักษาเบื้องต้น PRICE
 
P = Protection เป็นการป้องกันข้อต่อที่ได้รับบาดเจ็บ โดยการดามไว้ ไม่ให้เคลื่อนไหว ยกตัวอย่างเช่น การใส่support
R = Rest เป็นการหยุดพัก หรือหยุดใช้งานบริเวณข้อเข่า หรือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ยกตัวอย่างเช่น การใช้ไม้เท้าพยุง หรือใช้ crutches
I = Ice เป็นการใช้ความเย็น เข้ามาช่วยในการลดการอักเสบ ลดอาการปวด และบวม โดยการประคบเย็นในบริเวณที่มีอาการ ประมาณ 15-20 นาที 2-3 รอบต่อวัน
C = Compression เป็นการรัดรอบบริเวณที่มีอาการ หรือเกิดภาวะบวม โดยจะเป็นการใช้ผ้ายืดพันรัด หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า elastic bandages เพื่อช่วยลดอาการบวม และจำกัดการเคลื่อนไหว แต่ไม่ควรพันทิ้งไว้ในขณะที่นอน
E = Elevation เป็นการยกขาขึ้นสูง เพื่อช่วยให้เลือด และของเหลว จากบริเวณที่บาดเจ็บไหลเวียนได้ดีขึ้น
 
ตัวอย่างท่าออกกำลังกายในกรณีที่ไม่ต้องผ่าตัด
 
  1. Straight leg raise (SLR): นอนหงาย และยกขาขึ้นตรงๆ ค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้ง 2-3 รอบ
  2. Static quads: นอนหงาย ขาเหยียดตรง ให้เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า คล้ายกับการกดเข่าติดเตียง แต่ไม่มีการยกส้นเท้าออกจากเตียง ค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้ง 2-3 รอบ
  3. Heel slide: อยู่ในท่านอนหงาย ค่อยๆงอเข่าขึ้น โดยการเลื่อนเท้าเข้าหาสะโพกให้ได้มากที่สุด ค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้ง 2-3 รอบ
  4. Knee extensions: นอนหงาย ขาเหยียดตรง เอาผ้าขนหนูมาม้วนๆ แล้วนำไปวางไว้ที่ส้นเท้า ให้ขาได้มีการเหยียดสุด ค้างไว้ 5-10 นาที 2-3 ครั้ง
  5. Stationary bicycle (จักรยานปั่นอยู่กับที่): ปั่นจักรยาน 10-15 นาทีเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่า
 
References
 
กภ. ชวิศา วศินชัชวาล
Pain Away LINE Account
Book Appointment