หลายท่านคงเคยได้ยินโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทกันมาก่อนแล้ว เพราะเป็นโรคที่ถือว่าพบเจอได้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่หลังส่วนล่าง หรือ บริเวณต้นคอ ซึ่งอาการที่พบก็มักจะมีตั้งแต่รุนแรงมากไปจนถึงรุนแรงน้อย อาการที่รุนแรงมากเลยก็คือทำให้ไม่สามารถเดินได้ปกติเพราะรู้สึกถึงอาการเจ็บตลอดเวลา ปวดจนนอนไม่หลับ และรู้สึกแขนขาอ่อนแรง ในผู้ที่มีอาการน้อยอาจจะรู้สึกเพียงแค่ชาปลายมือปลายเท้า รู้สึกเหมือนมีเหน็บกินตลอดเวลา ซึ่งอาการเหล่านั้นก็ขึ้นกับความรุนแรงของตัวโรค แต่อาการที่ชัดเจนและบ่งบอกได้มากที่สุด คือ การปวดเฉพาะจุดแต่มีอาการชาร้าวลงปลายรยางค์

ด้วยอาการเหล่านั้นที่อาจสร้างความรำคาญใจ หรือ ความเจ็บปวดให้กับร่างกาย จึงทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าอาการเหล่านี้ หรือ โรคนี้จะสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

เราจะมาทำความรู้จักกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทกันก่อน

หมอนรองกระดูก คือ ชิ้นส่วนหนึ่งของร่างกายที่เป็นส่วนรองรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลังแต่ละชิ้น ลักษณะคล้ายเยลลี่ที่บรรจุของเหลวอยู่ด้านใน โดยปกติแล้วจะเป็นส่วนที่แข็งแรงมากเพราะประกอบจากชั้นเนื้อเยื่อแบบหนาหลายชั้น แต่หากเวลาผ่านไป อายุที่มากขึ้นจะทำให้มันเกิดการเสื่อมจนผนังฉีกขาด และของเหลวที่บรรจุอยู่ภายในจะไหลออกมากดทับกับเส้นประสาทที่ออกมาจากช่องของกระดูกสันหลัง ซึ่งอาการของผู้ป่วยจะขึ้นกับปริมาณน้ำที่ไหลออกมากดทับนั่นเอง

เมื่อของเหลวเหล่านั้นไหลออกมาทับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงส่วนรยางค์ เช่น ถ้าเป็นบริเวณต้นคอ ผู้ป่วยก็จะมีอาการเจ็บชา อ่อนแรง หรือเจ็บบริเวณช่วงแขน ข้างใดข้างหนึ่ง หรือ ทั้งสองข้าง เช่นเดียวกันกับบริเวณหลังส่วนล่าง ที่จะเป็นที่ขาแทน

แต่อาการเหล่านั้นสามารถหายได้ หากใช้เวลาประมาณ 4 – 12 สัปดาห์ เพราะร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันที่จะช่วยกำจัดของเหลวเหล่านั้น และช่วยรักษาเนื้อเยื่อที่ฉีกขาดให้ปิดสนิทกลับเป็นเหมือนเดิม

แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะปวดมากทรมานจนทนไม่ไหว จึงต้องหาหมอ ทำกายภาพเสียก่อน ให้อาการทั้งหมดที่กล่าวมานั้นดีขึ้น

การรักษาส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นจากการที่หมอฉีดยาลดปวดให้ก่อน เพราะอาการของโรคนี้มักจะมีความเจ็บปวดมากจนผู้ป่วยทนไม่ไหว แล้วพออาการทุเลาลงจึงส่งทำกายภาพบำบัดเพื่อแก้ไขให้ตรงจุด ส่วนการผ่าตัดมักเป็นทางออกสุดท้ายสำหรับการรักษาโรคนี้

กายภาพบำบัดกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาททำอะไรได้บ้าง?

ก่อนเริ่มการรักษาทางกายภาพบำบัดจำเป็นจะต้องรู้ระดับของอาการเจ็บปวดจากตัวโรคก่อน หากผู้ป่วยมีอาการมาก เช่น ไม่สามารถนอนหลับได้ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ การรักษาแรกจะเป็นการลดปวด ซึ่งก็สามารถใช้ได้ทั้ง เครื่องมือทางกายภาพบำบัด ไม่ว่าจะเป็น Ultrasound เพื่อให้เข้าไปเร่งให้เกิดกระบวนการรักษาตัวเองของบริเวณที่มีการปลิ้นของหมอนรองกระดูก

ใช้ TENS เพื่อลดอาการเจ็บปวด และใช้ Traction เพื่อให้เกิดแรงดึงให้เจ้าหมอนรองกระดูกกลับเข้าที่

หรือยังสามารถใช้การ Mobilization ในการช่วยขยับข้อต่อแบบเบาๆ ให้หมอนรองกระดูกกลับเข้าที่ได้เช่นกัน

หลังจากรักษาด้วยการใช้หัตถการและเครื่องมือแล้ว ก็จะสอนให้คนไข้ออกกำลังกายที่ใช้กับคนไข้โรคนี้โดยเฉพาะ คือ Mckenzie exercise เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยดึงให้ของเหลวที่ไหลออกมาทับเส้นประสาทกลับเข้าไปอยู่ในหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยท่าออกกำลังกายจะเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการนอนคว่ำ เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักจะรู้สึกว่าอาการเบาลงขณะทำท่าแอ่นหลังหรือท่านอนคว่ำหน้า ดังนั้นเริ่มแรกของการออกกำลังกายนี้จะให้ผู้ป่วยนอนคว่ำเอาหมอนรองหน้าอกให้หลังแอ่นเล็กน้อย 5 – 10 นาที 2 ครั้งต่อวัน หลังจากนั้นให้ใช้ข้อศอกยันตัวขึ้นจากพื้นในลักษณะนอนคว่ำ ยันตัวขึ้น – ลง 10 ครั้ง ต่อมาก็เปลี่ยนจากศอกเป็นมือ ทำซ้ำเช่นเดียวกัน พออาการเริ่มดีขึ้น ก็ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเป็นท่ายืนแอ่นหลัง การเปลี่ยนท่าทางจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยหลังจากทำ หากอาการปวดลดลง จึงจะขยับไปท่าถัดไป

โดยสรุปแล้วโรคหมอนลองกระดูกทับเส้นประสาทนี้สามารถรักษาให้หายได้โดยยังไม่ต้องใช้การผ่าตัด แต่อย่าลืมว่าพอร่างกายมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้กล้ามเนื้อและโครงสร้างรอบๆ เกิดการตึงตัวหรืออ่อนแรงลง ดังนั้นจึงควรกลับมาเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกายใหม่อีกครั้งหลังจากอาการบาดเจ็บหายไป เช่น การออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (Core stabilizer exercise) เป็นประจำสม่ำเสมอ ทั้งการปรับการทรงท่า (Correct posture) การปรับสถานที่ทำงานให้เอื้ออำนวยต่อการมีท่าทางการทำงานที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ท่านก็จะไม่กลับมาเป็นโรคนี้อีกครั้ง

กภ. สิมิลัน อินสว่าง
นักกายภาพบำบัด

Pain Away LINE Account
Book Appointment