ภาวะที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (median nerve)โดยเส้นประสาทมีเดียนนี้จะทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ และการรับความรู้สึกบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง บริเวณที่เส้นประสาทนี้ผ่านตรงข้อมือจะเป็นโพรงที่มีเส้นเอ็นพาดผ่านด้วย ถ้าโพรงของเส้นประสาทนี้ตีบแคบ ก็จะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทได้ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดชา บริเวณนิ้วหัวแม่มือถึงนิ้วนาง และบางครั้งอาจมีอาการปวดขึ้นไปบริเวณแขนได้ด้วย ถ้าหากเป็นมานาน
 

อาการ

  • ชา หรือเสียวแปลบปลาบที่มือโดยเฉพาะบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง ทางฝั่งด้านฝ่ามือ
  • อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อกำ หรือถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานๆ เช่น มือถือ หิ้วของ เป็นต้น
  • บางครั้งอาจมีอาการปวด หรือชาในขณะนอน
  • ตื่นนอนในตอนเช้าด้วยอาการชา หรือเสียวแปลบปลาบที่มือ
  • อาการจะดีขึ้นเมื่อสะบัดมือไปมา
  • ในบางรายที่มีอาการชา เสียวแปลบปลาบที่มือตลอดเวลา อาจมีอาการปวดแสบปวดร้อน
  • อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่มือโดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ หรือในบางคนอาจมีอาการกล้ามเนื้อฝ่อลีบร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้สูญเสียกำลังในการกำ หรือถือของได้
 

สาเหตุ

 
โดยปกติแล้วเส้นประสาทมีเดียนจะควบคุมกล้ามเนื้อมือ และการรับความรู้สึกทางฝั่งนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง เส้นประสาทมีเดียนจะผ่านโพรงข้อมือ ซึ่งภายในโพรงข้อมือจะมีเส้นเอ็นอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ดังนั้นถ้ามีบางอย่างไปกดทับเส้นประสาทมีเดียนในบริเวณข้อมือก็จะทำให้เกิดอาการชาที่มือได้ เช่น
  • เกิดจากอาการบวม หรือหนาขึ้นของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อในบริเวณโพรงข้อมือ จากการใช้งานมือและข้อมือที่ไม่เหมาะสม เช่นการเคลื่อนไหวมือกับข้อมือในลักษณะเดียวกันเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้มีแรงกดทับที่เส้นประสาทมีเดียนมากขึ้น
  • ภาวะการอักเสบของเนื้อเยื่อ หรือการบาดเจ็บบริเวณข้อมือ เช่นข้อมือหักหรือเคลื่อน สามรถไปกดทับเส้นประสาทมีเดียนได้
  • ภาวะของโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โรคไฮโปไทรอยด์ เป็นต้น
  • ภาวะการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในผู้ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำให้เกิดของเหลวคั่งค้างในร่างกาย มากกว่าปกติ และอาจทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ
 

การรักษา

  1. การใส่เฝือกและอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อลดความตึงตัว หรือหลีกเลี่ยงการถูกกดทับของเส้นประสาทมีเดียนะบริเวณข้อมือ โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยต้องนอนหลับหรือทำกิจกรรมที่อาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
  2. การออกกำลังกาย และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
  3. ประคบเย็นหรือร้อน ประคบเย็นเมื่อมีอาการบวม เพื่อชะลอหรือป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับเส้นประสาทมีเดียนที่ข้อมือ ประคบร้อนเมื่อมีอาการปวด เพื่อช่วยลดอาการปวด
  4. เครื่องอัลตราซาวด์ (ultrasound) เนื่องจากเครื่องอัลตราซาวด์ให้ผลทางความร้อน จึงสามารถช่วยลดอาการปวดลงได้
  5. ให้ความรู้ และข้อควรปฎิบัติ เช่น
  6. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องงอข้อมือนานๆ
  7. มีช่วงพักในขณะทำงาน
  8. ปรับท่าทางการทำงาน
  9. ลดการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการ
  10. ปรับเปลี่ยนตำแหน่งการวางคีย์บอร์ด เพื่อลดการงอข้อมือ
  11. หลีกเลี่ยงการนอนทับมือ
 

ท่าออกกำลังกาย

 
  1. ท่าบริหารเส้นเอ็นข้อมือ เป็นการขยับงอนิ้วมือในท่าต่างๆ โดยทำท่าค้างไว้ในแต่ละท่า 5 วินาที 10 ครั้ง 3 รอบ
  2. ท่ายืดกล้ามเนื้อ Wrist  stretch เหยียดแขนข้างที่จะยืดให้สุดแขน หงายท้องแขนขึ้น นำมืออีกข้างมาจับมือข้างที่ต้องการยืด ออกแรงดึงจนกระทั่งรู้สึกตึงบริเวณท้องแขน อีกท่าคือให้คว่ำมือลง เอามืออีกข้างดึงปลายมือเข้าหาตัวจนกระทั่งรู้สึกตึงบริเวณด้านหลังแขน ทั้ง 2 ท่าให้ทำค้างไว้15-30 วินาที 10 ครั้ง 3รอบ
  3. บีบลูกบอล เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ 5 วินาที 10 ครั้ง 3 รอบ
Pain Away LINE Account
Book Appointment