หากเราจำแนกสาเหตุการเกิดจุดกดเจ็บ (TrP) เราอาจสามารถจำแนกออกเป็นสองสาเหตุหลักด้วยกันซึ่ง ได้แก่ เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อโดยตรง อย่างเช่นการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การบาดเจ็บจากการใช้กล้ามเนื้อรูปแบบเดิมซ้ำๆในระยะนาน การเสื่อมของกล้ามเนื้อมีกล้ามเนื้อตึงหรือผลจากการผ่าตัด และกลุ่มอื่นๆซึ่งส่งผลต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อเช่น ความเครียด ความผิดปกติของการนอนหลับ ผลจากความผิดปกติของระบบประสาทเช่นการกดทับเส้นประสาทจากการหดตึงของกล้ามเนื้อ หรือผลจากความผิดปกติของสารอาหาร
แต่เมื่อมองถึงกลไกการเกิดจุดกดเจ็บลึกลงไปแล้ว ในปัจจุบันพยาธิสรีระของ TrP ที่แท้จริงนั้นยังไม่แน่ชัด มีเพียงแค่ทฤษฎี และสมมติฐานหลายรูปแบบด้วยกัน และที่กล่าวถึงกันบ่อยครั้งจะมีสามหัวข้อหลักๆด้วยกันคือ

  1. ทฤษฎีวิกฤติพลังงาน (Energy Crisis Theory) ซึ่งพูดถึงพยาธิสรีระว่ามาจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บ ในบริเวณนั้นๆจะเกิดการรั่วไหลของแคลเซียมไอออนซึ่งทำให้เกิดการหดตัวตัวของเส้นใยกล้ามเนื้อบางเส้นเรียกว่า “Contraction Knot” หลังเกิดการหดตัวในบางใยกล้ามเนื้อจะส่งผลให้เกิดการบกพร่องของการไหลเวียนเลือด มีการคั่งค้างของเสีย สารก่ออาการปวดและเกิดการบวม หลังจากมีการเสื่อมสลายลง (Segmental Degeneration) แล้ว ถ้าตรวจคลำจะพบลักษณะเป็นก้อนโดยที่ส่วยปลายทั้งสองของก้อนนั้นจะถูกรั้งตึงไว้อยู่ในลักษณะของลำกล้ามเนื้อ (Taut Band) TrP จะถูกตรวจพบในลักษณะของการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการกดเบียดเส้นเลือดฝอยที่ลำเลียงของเสียและนำพลังงานมาให้ใยกล้ามเนื้อนั้นๆ ทำให้ไม่มีพลังงานเพียงพอที่จะนำแคลเซียมไอออนกลับออกไปได้เกิดการคั่งค้างของเสียเพิ่มขึ้น ของเสียที่ว่านี้จะไปกระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึกทำให้ร่ากายมีความไวต่อการถูกกระตุ้น (Hyperalgesia) มากยิ่งขึ้น
  2. สมมติฐานความผิดปกติการทำงานที่จุดเชื่อมต่อของปลายประสาทกับกล้ามเนื้อ เป็นการตรวจพบทางสรีระทางไฟฟ้าของจุดเชื่อมต่อของปลายประสาทกับกล้ามเนื้อ (End-Plate) ว่าเป็นการทำงานที่ผิดปกติ โดยเกิดการสื่อสารที่ผ่านยาวนานมากเกินที่บริเวณใยกล้ามเนื้อ สมมติฐานนี้เกิดจากการแทงเข็มที่ End-Plate ของใยกล้ามเนื้อปกติ เปรียบเทียบกับ TrP ซึงพบว่าใน TrP จะมีคลื่นกระแสไฟฟ้าอิสระอยู่รอบๆบริเวณจุดที่แทงเข็มซึ่งในปกติจะไม่พบคลื่นอิสระนี้รอบกล้ามเนื้อปกติ
  3. สมมติฐานร่วมพยาธิสรีระของ TrP ในสมมติฐานนี้เป็นการนำทฤษฎีวิกฤติพลังงานกับสมมติฐานความผิดปกติการทำงานที่ End-Plate มารวบรวมเข้าไว้ด้วยกันเพื่ออธิบายพยาธิสรีระของ TrP ได้ชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

พยาธิสรีระการปวดของ TrP

โดยปกติแล้วการปวดจะถูกแบ่งออกได้สามกลุ่มใหญ่ คือ

  • Local Tenderness: ปวดที่บริเวณพยาธิสภาพ
  • ปวดร้าว (Referred Pain) ปัจจุบันไม่สามารรถอธิบายได้ชัดเจน มีเพียงแค่สมมติฐานการเกิดอาการร้าว
  • Convergence Projection: ปลายประสาทรับความรู้สึกหลายตัวและหลายบริเวณนำมาถ่ายทอดให้กับเซลล์ประสาทที่ไขสันหลังตัวเดียวกันทำให้สมองไม่สามารถแยกแยะตำแหน่งได้
  • Peripheral Branching of Primary Afferent Nociceptor Mechanism:ปลายประสาทรับความรู้สึกหนึ่งตัวแต่มีหลายแขนงรับความรู้สึกจากหลายบริเวณ ทำให้เกิดการแปลข้อมูลที่ผิดได้
  • Convergence Facilitation Mechanism: อาการปวดกระตุ้นเซลล์ประสาทที่ไขสันหลังให้มีความไวในการรับข้อมูล หากมีกระแสปกติเข้ามา อาจเปลี่ยนกระแสปกตินั้นให้กลายเป็นอาการปวดได้
  • Symphathetic: กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ อาการร้าวที่เกิดขึ้นมักกระจายเป็นวงกว้างๆ
  • Convergence: เป็นการรับข้อมูล ความรู้สึกต่างๆ ที่บริเวณส่วน Thalamic หรือ Cortical ทำให้ไม่สามารถระบุได้ถึงตำแหน่งต้นตอที่แท้จริงของอาการปวด
  • ปวดเรื้อรัง (Chronic Pain): การปวดในภาวะนี้เกิดจาก
  • การกระตุ้นอย่างต่อเนื่องที่บริเวณที่กล้ามเนื้อมีการหดตัวเป็นปม เป็นภาวะที่ถูกกระตุ้นผ่านส่วนปลายของระบบประสาท
  • ภาวะที่ถูกกระตุ้นผ่านทางระบบประสาทส่วนกลาง ในภาวะนี้จะเกิดขึ้นเป็นผลมาจากการถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดภาวะไวต่อการถูกกระตุ้นมากกว่าปกติ
Pain Away LINE Account
Book Appointment