สวัสดีค่ะ….มาพบกันอีกครั้งนะคะ แต่ครั้งนี้ เราจะพูดถึงอาการปวด ซึ่งคิดว่าหลายๆท่านเคยประสบพบเจอกันมาก่อน นั่นก็คือ…….ปวดเอว นั่นเองค่า

อาการปวดเอว  คืออาการปวดหรือความรู้สึกไม่สบายบริเวณหลังส่วนล่าง ท้อง หรือด้านล่างส่วนด้านข้างของร่างกาย โดยจะมีอาการปวดตรงบริเวณใต้ซี่โครงและเหนือกระดูกเชิงกราน และมักเกิดอาการปวดที่หลังส่วนล่าง ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดหนักตื้อ ๆ หรืออาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นที่เดียวหรือลามไปส่วนอื่นตามร่างกายก็ได้ ซึ่งอาการจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยทั่วไปแล้ว อาการปวดเอวมักเป็นสัญญาณของโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต หรือการติดเชื้อที่ไต แต่อย่างไรก็ตามอาจเป็นการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่างก็เป็นได้เช่นกันค่ะ

หากจะกล่าวถึงอาการปวดเอวแล้วเราสามารถ แบ่งกลุ่มอาการปวดเอวหลักๆ ได้ 2 กลุ่ม ด้วยกันนะคะ ได้แก่

  1. อาการปวดเอวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการโรคไต
  2. อาการปวดเอวอื่นๆ ซึ่งตัวสาเหตุนี้แหละค่ะที่เราจำมาทำความรู้จักและการรักษาอย่างละเอียดกันนะคะ

ทีนีเราจะมาดูในส่วนของรายละเอียดในแต่ละกลุ่มกันก่อนค่ะ

กลุ่มอาการปวดเอวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ไต เนื่องจากตำแหน่งของไตนั้นจะวางอยู่ด้านหลังช่องท้องส่วน  แต่ละข้างจะวางตัวในลักษณะแนวตั้ง ขนานกับกระดูกไขสันหลังช่วงเอว ฝังตัวติดกับผนังลำตัวของแผ่นหลัง หรือถ้าจะให้ทำความเข้าใจง่ายๆ ตำแหน่งของไตจะอยู่บริเวณสีข้างของร่างกาย อาการปวดเอวมีสาเหตุมาจากการมีนิ่วอยู่ในไต หรือในท่อไต ซึ่งส่งผลมาให้เกิดการอุดตันในท่อไต เมื่อพองออกจะทำให้มีอาการปวด ลักษณะการปวดมักจะปวดที่บั้นเอวหรือชายโครงด้านหลังและมักปวดร้าวไปที่ท้องน้อย ขาอ่อน หรืออวัยวะเพศ มักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง สิ่งผิดปกติที่มักพบร่วมด้วยคือปัสสาวะมีสีขุ่นและหรือ ปัสสาวะกะปริบ กะปรอย

อาการปวดเอวอื่น ๆ อาการปวดเอวกลุ่มนี้เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท ซึ่งมักเป็นปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและกระดูก การบาดเจ็บเส้นประสาท ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับระดับการบาดเจ็บของโครงสร้างบริเวณนั้นๆด้วยค่ะ ถ้า

  • อาการปวดเกิดจากภาวะของกล้ามเนื้อมีการอักเสบ ฉีกขาด (muscle strain) สาตุหลักของกลุ่มนี้จะมาจากการใช้กล้ามเนื้อหลังอย่างหนัก การเคลื่อนไหวแบบฉับพลันหรือการยกของหนักและผิดท่า ส่งผลให้เกิดการใช้งานของกล้ามเนื้อมากเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บและอักเสบตามมา อาการแสดงนั้นมีได้ตั้งแต่ปวดตื้อ มีอาการบวม ร้อนที่ผิวหนัง มีจุดกดเจ็บ และมีภาวะตึงตัวของโครงสร้างหรือกล้ามเนื้อรอบข้างที่เกิดการบาดเจ็บ รวมถึงมีการจำกัดการเคลื่อนไหวของหลังและเอว นอกจากนี้การเกิดอุบัติเหตุเกิดการร้าวของซี่โครงช่วงล่าง ยังส่งผลให้เกิดอาการปวดเอวได้อีกด้วย
  • อาการปวดเกิดจากภาวะการกดทับของและหรือการบาดเจ็บของเส้นประสาท โดยเฉพาะในบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกล่าง รวมไปถึงกระดูกสันหลังส่วนเอว ที่มีส่วนของเส้นประสาทออกมาเลี้ยงในส่วนนั้นๆ หากมีการกดทับหรือบาดเจ็บของเส้นประสาท จะส่งผลไปยังพื้นที่ที่เส้นประสาทเหล่านั้นออกมาเลี้ยง มักจะเป็นอาการปวด แต่อาจจะมีอาการชาร่วมด้วยได้เช่นกัน

ซึ่งอาการข้างต้นที่ได้กล่าวไปนะคะ จะมีการรักษาที่ต่างกันอยุ่ แต่ว่าในที่นี้จะขอกล่าวถึงการรักษาเบื้องต้นที่มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บในระบบระบบกระดูกโครงสร้างและกล้ามเนื้อเพราะเป็นการบาดเจ็บที่พบได้ทั่วไปทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และส่วนวิธีการรักษานั้นส่วนใหญ่จะเป็นการฟื้นฟูร่างกายและหรือการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดจากการบาดเจ็บ ซึ่งในการบาดเจ็บเบื้องต้น มักจะมีอาการ “อักเสบ” เกิดขึ้นเป็นอาการหลัก สำหรับอาการที่บ่งบอกว่าเป็นสัญญาณของการอักเสบนั่นก็คือ “ปวด,บวม,ผิวหนังมีสีแดงหรืออมชมพู (เมื่อเทียบกับบริเวณข้างเคียง),และ ผิวหนังบริเวณนั้นๆมีอุณหภูมิที่สูงสูงขึ้นค่ะ” และการหมายปฐมพยาบาลดูแลด้วยตัวเองเบื้องต้นก็จะใช้ “RICE” นั่นเองค่ะ แต่ว่าไม่ได้จะใช้ข้าวมารักษานะคะ ในที่นี้เป็นอักษรย่อที่ทำให้จำได้ง่ายเมื่อเกิดการบาดเจ็บโดย

R : Rest คือการหยุดพักทำกิจกรรมใดๆที่ส่งผลต่อการบาดเจ็บมากขึ้น และยังเป็นการให้ร่างกายได้หยุดพักเพื่อให้ได้ฟื้นฟูจากการบาดเจ็บ เพราะโดยปกติแล้ว ร่างกายคนเราจะมีการฟื้นฟูด้วยตนเองอยู่แล้ว

I : Ice การประคบเย็น ตัวนี้ จะช่วยในเรื่องของการลดอัตราเมทาบอลึซึมบริเวณที่บาดเจ็บ เพราะในภาวะที่เกิดการบาดเจ็บร่างกายจะมีการหลั่งสารซึ่งทำให้บริเวณที่บาดเจ็บมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ดังนั้นการประคบเย็นจะเป็นการลดอุณหภูมิและลดอาการปวด

C : compression  การกด เป็นการเพิ่มแรงกดไม่ว่าจะเป็นด้วยผ้าพัน หรือสิ่งอื่น ที่บริเวณบาดเจ็บเพิ่มเป็นลดอาการปวดและลดการบวมที่เกิดขึ้น

E :  Elevation การยกสูง เพื่อเพิ่ม venous return และลดอาการบวม

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อปฏิบัติเบื้องต้นด้วยตนเองส่วนมากก็จะใช้กับผู้ที่มีอาการบาดเจ็บเล็กน้อยและอาการไม่รุนแรงนะคะ แต่ถ้าหลังจากปฏิบัติตามวิธีข้างต้นแล้ว และรู้สึกว่าร่างกายยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่ จะใช้การรักษาทางกายภาพบำบัดเข้ามาเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่งหลักๆในการรักษาทางกายภาพบำบัดได้แก่

เลเซอร์

ปัจจุบันการรักษาด้วยเลเซอร์นั้น นิยมใช้กับการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน โดยหลักการของการใช้เลเซอร์จะเป็นการถ่ายเทพลังงานเข้าสู่เนื้อเยื่อที่มีการบาดเจ็บเพื่อที่จะสะสมพลังงานนั้นไว้เพื่อใช้ในการฟื้นฟูการเสียหายของเนื้อเยื่อ ซึ่งเลเซอร์นี้มีหลายรูปแบบตั้งแต่เลเซอร์เย็น(ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ประเภทนี้ในการรักษา)ไปจนกระทั่ง high power laser ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะและรูปแบบของการบาดเจ็บ

 

อัลตร้าซาวน์

อัลตร้าซาวน์ เป็นการใช้คลื่นเหนือเสียงส่งลงไปยังเนื้อเยิ่อที่มีการบาดเจ็บเพื่อหวังผลให้เกิดการเพิ่มขั้นของการไหลเวียนเลือด การลดอาการบวม และอาการปวดทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จะใช้อัลตร้าซาวน์ก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะอาการบาดเจ็บ หากมีอาการอักเสบก็จะใช้ในรูปแบบที่มีระดับความแรงต่ำ ซึ่งไม่ทำให้เกิดความร้อน แต่ถ้าหาก เป็นอาการติดแข็ง ระยะเวลาของอาการเกิดขึ้นมานาน อาจจะต้องใช้ความแรงในระดับที่สูงขึ้นเพื่อเกิดความร้อนที่ทำให้มีการไหลเวียนของเลือดได้ดีขึ้น

การรักษาด้วยความร้อน-ความเย็น

ตัวนี้ อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้าการใช้ความร้อน-ความเย็นบริเวณที่บาดเจ็บนั้นจะช่วยลดอาการปวดได้ในระดับหนึ่ง โดยจะต้องพิจารณาการใช้ความร้อน-เย็น จากลักษณะอาการของผู้บาดเจ็บ

 

การกระตุ้นไฟฟ้าลดปวด

อีกหนึ่งในการใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดนั่นก็คือไฟฟ้านั่นเองค่ะ โดยกลไกของการรักษาด้วยไฟฟ้านั้น จะเป็นการกระตุ้นผ่านระบบประสาทรับความรู้สึกซึ่งมีการส่งผ่านข้อมูลไปยังสมองเพื่อยับยังความรู้สึกปวดที่มีอยู่ก่อนหน้ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการแทนที่ของข้อมูลซึ่งทำให้รู้สึกถึงอาการปวดลดลง

 

หัตถการบำบัด

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การคลายกล้ามเนื้อและการขยับเคลื่อนของข้อต่อและเนื้อเยื่อนั้นเป็นอีกวีหนึ่งในการรักษา ซึ่งมีความตึง การตึงแข็ง ของภาวะเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว หรือปรับสภาวะความตึงตัวของเนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อต่างๆให้คลายตัว

 

การออกกำลังกายบำบัด

สำหรับการการออกกำลังกายบำบัดนั้น จะเป็นเหมือนการฟื้นฟูในขั้นท้ายๆเพราะต้องการคงสภาพและเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงความทนทาน และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บได้โดยง่าย ในขั้นนี้เสมือนเป็นการรีเซ็ตทั้งความสมดุล ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความทนทาน เพื่อเพิ่มคุณภาพในการใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

เอาล่ะค่ะ..จริงๆแล้วการรักษาอาการปวดเอวนี่มีหลายวิธีนะคะอย่าง การฝังเข็มการใช้สมุนไพร การครอบแก้วแล้วแต่ว่าใครอยากจะรักษาแบบไหนหรือสะดวกแบบไหน แต่ที่ดีที่สุดนะคะ “อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรค เป็นเลาภอันประเสริฐนะคะ………..สวัสดีค่ะ

 

Pain Away LINE Account
Book Appointment