อาการปวดเข่า เป็นลักษณะของอาการปวดที่บริเวณข้อต่อของกระดูกต้นขาและกระดูกขาส่วนปลายซึ่งทำงานรองรับน้ำหนักเกือบทั้งหมดของร่างกาย อาการปวดเข่านี้สามารถพบได้ในทุกเพศทุกช่วงวัยโดยมีกลุ่มเสี่ยงสูงในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน นักกีฬาที่ต้องใช้แรงกล้ามเนื้อขาและเข่ามากๆ อาการปวดเข่าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนั้น เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับสาเหตุของอาการปวดเข่า เพื่อที่เราจะได้ทราบถึงความรุนแรง ของอาการ และวิธีการรักษาอย่างถูกต้องและตรงจุดกันดีกว่าค่ะ…
ก่อนอื่นจะขอแบ่งกลุ่มสาเหตุของอาการปวดเข่าออกเป็น 2 กลุ่มหลักด้วยกันคือ
- อาการปวดเข่าที่เกิดขึ้นจากการอักเสบและความเสื่อมของข้อ
- อาการปวดเข่าที่เกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณเข่า
1) กลุ่มอาการปวดเข่าที่เกิดจากการอักเสบและความเสื่อมของข้อ สามารถแบ่งออกย่อยๆได้
ข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis) เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนส่วนปลายซึ่งเป็นข้อต่อ ซึ่งจะมีอาการเจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเข่า ในบางครั้งอาจมีการสะสมของหินปูนที่ข้อเข่า ในโรคนี้มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และนอกจากนี้ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นข้อเข่าเสื่อมได้
1.1) ข้ออักเสบติดเชื้อ (septic arthritis) เป็นภาวะที่เกิดการติดเชื้อขึ้นที่ข้อต่อต่างๆโดยที่เชื้อโรคอาจอยุ่ในกระแสเลือดหรือเข้ามาทางบาดแผล ส่วนใหญ่พบในข้อเข่าเป็นหลัก โดยการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้ข้อต่อบริเวณที่ติดเชื้อบวม แดง รู้สึกร้อน ผู้ป่วยใช้งานข้อต่อที่ติดเชื้อได้ลำบากและอาจมีไข้
1.2) โรคเกาท์ เป็นการอักเสบของข้อต่ออีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีภาวะกรดยูริกสูงเกินไป ไตไม่สามารถขับออกได้ กรดยูริกจึงเกิดการสะสมเป็นผลึกเล็กอยู่ภายในข้อซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ รู้สึกเจ็บที่ข้อต่อ มีอาการบวมและแดงร่วมด้วย
1.3) เกาท์เทียม (pseudo gout) การเกิดคล้ายกับโรคเกาท์แต่ต่างกันที่ทำให้เกิดผลึกภายในข้อต่อคือแคลเซียมไพโรฟอสเฟตไดไฮเดรต อาการโดยทั่วไปจะแสดงอาการเหมือนกับเกาท์ คือมีปวด บวม มีอาการอักเสบเรื้อรัง
1.4) รูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นการอักเสบชนิดเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นตามข้อต่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งหากเกิดขึ้นในข้อต่อข้างใดข้างหนึ่ง มักพบว่าข้อต่ออีกข้างเกิดการอักเสบด้วยเช่นกัน โดยเกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบคุ้มกัน เมื่อเม็ดเลือดขาวเลือกทำลายเยื่อบุผิวข้อต่อ
2) อาการปวดเข่าที่เกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณเข่า
ส่วนใหญ่มักพบในนักกีฬาและหรืออุบัติเหตุต่างๆทำให้เกิดการบาดเจ็บแก่โครงสร้างของเข่า ดังนี้
2.1) การบาดเจ็บที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณรอบหัวเข่า (muscle strain) หรือมีภาวะกล้ามเนื้อฉีก มักจะเกิดขึ้นเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เกิดการกระแทก หรือการที่กล้ามเนื้อเกิดการใช้งานอย่างหนัก ทั้งนี้ ยังหมายรวมไปถึงกลุ่มอาการปวดที่บริเวณกระดูกสะบ้าด้วย( patellofemoral pain syndrome)
2.2) การบาดเจ็บที่เกิดจากเส้นเอ็นและลิกาเมนต์ (ligament sprain) สาเหตุการเกิดมักพบร่วมกับการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อร่วมด้วยเนื่องจากเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว หรือแรงกระทำจากภายนอกบริเวณข้อเข่าทำให้เกิดการฉีกของเส้นเอ็น
2.3) การบาดเจ็บที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเกิดการเสียหาย (meniscus tear) อย่างที่ทราบกันดีว่าส่วนปลายของข้อต่อเข่านั้นจะมีกระดูกอ่อนลักษณะเป็นเหมือนจานรองรับการเสียดสีกันเมื่อมีการเคลื่อนไหวและกระจายน้ำหนักและแรงกระแทก หากกระดูกอ่อนในส่วนนี้เกิดการสึกกร่อนหรือเสียหาย ก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่าได้
2.4) การอักเสบของถุงน้ำที่หัวเข่า โดยปกติแล้วถุงน้ำจะทำหน้าที่ในการลดการเสียดสีในเข่า การที่ข้อเข่ามีกระแทกระหว่างกระดูกและเอ็นบริเวณเข่าทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งมักเกิดในถุงน้ำเหนือกระดูกสะบ้า หรือถุงน้ำใต้ข้อต่อเข่า ส่งผลให้เจ็บที่เข่า และเคลื่อนไหวเข่าได้ลำบาก
การรักษา
การรักษาอาการปวดเข่ามีได้หลากหลายวิธี แตกต่างกันไปตามสาเหตุของอาการปวดเข่า ทั้งการการบำบัดรักษา การแพทย์ทางเลือก การผ่าตัด การใช้ยา การฉีดยา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และการพยากรณ์ของโรคหรืออาการ ซึ่งเราจะมาดูในส่วนที่เป็นการรักรักษาทางกายภาพบำบัด และ การแพทย์แผนจีนกันนะคะ
กายภาพบำบัดรักษา แพทย์จะแนะนำวิธีการเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหน้าและต้นขาด้านหลัง ซึ่งในบางรายอาจให้ใช้เครื่องมือเสริมเพื่อป้องกันและรองรับแรงที่มากระทำกับข้อเข่า เช่น การใช้วัสดุรองรับอุ้งเท้าในผู้ป่วยข้อเสื่อม นอกจากนั้น ผู้ป่วยซึ่งปวดเข่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสียหายของเข่า ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายและเล่นกีฬาในท่าที่ถูกต้อง หรือหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ใช้วิธีหลักปฏิบัติ “RICE” เมื่อเข่าได้รับบาดเจ็บหรือมีสัญญาณของอาการอักเสบ (ปวด,บวม,แดง,ร้อน)เกิดขึ้น
- Rest : หยุดพักและหลีกเลี่ยงกิจกรรมมีการใช้งานของบริเวณที่บาดเจ็บ เพื่อให้ร่างกายได้มีการฟื้นฟูด้วยตัวเอง
- Ice : ประคบเย็นบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อลดอาการบวมและอักเสบ
- Compression : ผู้ป่วยควรพันผ้าเพื่อเพิ่มแรงกดที่บริเวณเข่า แต่ต้องไม่พันแน่นจนเกินไปโดยเป็นผ้าที่มีน้ำหนักเบา อากาศลอดผ่านได้ เพื่อลดการคั่งค้างของของเหลวในเข่า ที่ทำให้เกิดอาการบวม
- Elevation : การยกสูง เพื่อเพิ่มอัตราการไหลเวียนของเสียกลับเข้าสู่ระบบและเพื่อลดอาการบวม
การแพทย์แผนจีน การฝังเข็ม คือการใช้เข็มขนาดเล็กฝังลงไปจุดต่าง ๆ ตามร่างกายในแนวเมอริเดียนของผู้ป่วย ซึ่งมีงานวิจัยอ้างว่า การฝังเข็มช่วยบรรเทาอาการปวดเข่า ที่เกิดจากโรคข้อเสื่อมได้ ซึ่งตามศาสตร์ของแพทย์แผนจีนการฝังเข็มในแนวเส้นเมอริเดียน แม้จะเป็นการฝังที่บริเวณอื่นๆของร่างกาย แต่เป็นเส้นแนวเดียวกันตามเมอริเดียนก็จะสามารถเชื่อมโยงไปถึงกันได้
การรักษาอาการปวดเข่าด้วยวิธีธรรมชาติ
จากงานวิจัยพบว่ามีสมุนไพรหลายชนิดที่มีสรรพคุณในการช่วยรักษาอาการปวดเข่าได้ ดังนี้
- ขิง นอกจากหญิงตั้งครรภ์ที่ควรรับประทานขิงเพื่อเพิ่มน้ำนมแล้ว ทุกคนสามารถนำมาประกอบอาหารเพื่อใช้ฤทธิ์ต้านการอักเสบของขิงกับร่างกายของเราได้ด้วย ขิงเป็นพืชที่มีระบุอยู่ในการแพทย์โบราณของหลายชนชาติว่าช่วยแก้พิษ ลดบวม ขับลม ซึ่งมีงานวิจัยยุคปัจจุบันที่รองรับสรรพคุณแก้หวัด โดยขิงมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้
- พริก พริกช่วยขับเสมหะและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเมือกเพื่อขับสิ่งที่เกาะอยู่ในทางเดินหายใจให้ระบายออกมาได้ และมีผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ พบว่าพริก มีคุณสมบัติต้านการอักเสบในกลุ่มเดียวกับขิง ซึ่งเบื้องต้นเมื่อทดลองแล้วพบว่าช่วยลดอาการปวดในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ซึ่งคาดว่าอนาคตเราจะสามารถพัฒนาเป็นยารักษากลุ่มอาการปวดได้
- ขมิ้นชัน จากการศึกษาพบว่าขมิ้นนั้นออกฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดการเสื่อมของร่างกายมีผลวิจัยจากภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลว่าขมิ้นชันสกัด สามารถลดอาการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการปวดของผู้ป่วยข้อเข่าอักเสบได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เป็นทางเลือกดูแลตัวเองแก่ผู้ที่มีอาการปวดข้อและเป็นหวัดซึ่งสรรพคุณเหล่านี้อาจช่วยป้องกันและยืดระยะเวลาการเกิดโรคข้อเสื่อมให้ช้าลงได้ อย่างไรก็ตาม สรรพคุณในการต้านอักเสบและชะลอการเสื่อมในขมิ้นนั้นยังต้องการการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติม
- เจียวกู่หลาน ผลการศึกษาจากห้องปฏิบัติการพบว่าสารสกัดจากเจียวกู่หลานนั้นมีสรรพคุณในการช่วยลดการอักเสบของเซลล์กระดูกอ่อน ซึ่งอาจช่วยในการป้องกันและลดอาการของโรคข้อเสื่อมได้
การป้องกันอาการปวดเข่า
แม้อาการปวดเข่าจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยากจะคาดการณ์ล่วงหน้า อาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาการปวดเข่าที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ส่วนใหญ่ล้วนป้องกันได้ ซึ่งควรปฏิบัติตัวดังนี้
- อบอุ่นร่างกายและยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาส่วนหน้าและต้นขาส่วนหลัง เพื่อลดอาการตึงของกล้ามเนื้อบริเวณเข่า
- สร้างกล้ามเนื้อส่วนขาให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายที่เน้นการสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อส่วนขา เช่น การเดินขึ้นบันได การปั่นจักรยาน หรือการเล่นเวทที่ขา
- ระหว่างการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่าหรือทิศทางกะทันหัน
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดแรงกดที่เข่าจากน้ำหนักตัวที่มากเกิน
- สวมรองเท้าที่มีขนาดพอดีและเหมาะสมกับเท้า เพื่อรักษาสมดุลของขาขณะเดินหรือวิ่ง นอกจากนั้นผู้ป่วยโรคเท้าแบนหรือผู้ที่มีลักษณะเท้าแบน อาจมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่เข่า ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่าได้ จึงควรสวมรองเท้าสำหรับคนเท้าแบนโดยเฉพาะ