กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis syndrome)
 
บางคนอาจเคยมีอาการปวดสะโพกซึ่งเป็นอาการปวดที่ก้นและปวดลงขาข้างใดข้างหนึ่งกันมาบ้างโดยมากมักจะคิดว่าอาการปวดสะโพกร้าวลงขาเกิดจากการกดทับหรือการบาดเจ็บของเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่าง แต่จริงๆแล้วอาการปวดสะโพกร้าวลงขาอาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็เป็นได้ อย่างภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือที่เรียกว่า Piriformis syndrome แต่บางคนอาจจะรู้จักในชื่อสลักเพชรจม ซึ่งภาวะที่ว่ามานี้สามารถส่งผลทำให้เกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขาเช่นกัน
 
ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อ Piriformis เป็นกล้ามเนื้อขนาดเล็ก ค่อนข้างลึกบริเวณก้น ไปดึงรั้ง หดเกร็งหรือกดทับเส้นประสาทใหญ่ที่ลงไปบริเวณขาซึ่งเรียกว่า sciatic nerve เนื่องจากกล้ามเนื้อpiriformisจะอยู่เหนือเส้นประสาทนี้ โดยมีหน้าที่รักษาสมดุลของสะโพกและช่วยให้ต้นขาเคลื่อนไหวไปยังทิศทางต่าง ๆ ได้ เช่นการกางขา ขณะงอข้อสะโพก และหุบขาในขณะข้อสะโพกเหยียด โรคนี้เป็นภาวะที่ไม่ได้เกิดบริเวณกระดูกสันหลัง แต่ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับการกดทับเส้นประสาทที่กระดูกสันหลัง
 
ส่วนมากภาวะนี้จะพบได้ในช่วงอายุ 40-50 ปี และมักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ถึง 6 เท่า เนื่องจากองศาการวางตัวของกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง ที่เรียกว่า Q angle ในผู้หญิงจะกว้างกว่าผู้ชาย
 

อาการ

  • มีอาการปวดลึกบริเวณก้น และสะโพกข้างใดข้างหนึ่ง มีอาการปวดร้าวลงไปถึงข้อพับเข่
  • มีอาการชา และรู้สึกเสียวปลาบที่ก้นและอาจร้าวลงมายังอวัยวะด้านหลัง
  • มีจุดกดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณก้น
  • นั่งไม่ค่อยสะดวกสบาย
  • เกิดอาการปวดขณะนั่งและจะแย่ลงเมื่อนั่งนาน ๆ หรือเดินนานๆ
  • มีอาการเจ็บปวดก้นและขาซึ่งจะแย่ลงเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขณะเปลี่ยนจากท่านั่งไปท่ายืน หรือทำท่าsquat
 
ในบางกรณีที่รุนแรง สะโพก ก้นและขาอาจมีอาการปวดรุนแรงมากจนทำให้เดินลำบาก และไม่สามารถทำกิจกรรมที่จำเป็นบางอย่างได้ เช่น ไม่สามารถนั่งทำงานกับหน้าคอมพิวเตอร์ได้ ไม่สามารถขับรถเป็นเวลานาน ๆ ได้หรือทำงานบ้านไม่ได้
 

สาเหตุ

เนื่องจากเราใช้กล้ามเนื้อPiriformisเป็นประจำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นั่งเป็นระยะเวลานาน หรือขึ้นบันไดบ่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อมัดนี้ จนไปกดทับเส้นประสาท sciatic หรือกล้ามเนื้อPiriformisอาจได้รับบาดเจ็บหรืออักเสบ หลังจากที่ไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานหรือจากการที่ออกกำลังกายมากกว่าปกติ
 

การรักษาทางกายภาพบำบัด

  1. การประคบร้อน ให้ความร้อนตื้น จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อได้
  2. เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น Ultrasound จะให้ผลความร้อนลึก ในรูปแบบคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อลดอาการปวด คลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อ หรืออาจใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า อย่างเช่น tens
  3. การนวดกดจุดคลายกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก หรือบริเวณที่มีจุดกดเจ็บ ซึ่งจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้ลดอาการปวดบริเวณนั้นได้
  4. การออกกำลังกาย เช่นการยืดกล้ามเนื้อ ช่วยคลายกล้ามเนื้อที่มีเกิดการหดเกร็ง หรือการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ
 

ท่ายืดกล้ามเนื้อ

  1. ท่ายืดกล้ามเนื้อ piriformis ในท่านอน: นอนหงาย ชันขาขึ้นมาทั้ง 2 ข้าง จากนั้นยกขาข้างที่ปวดขึ้นมาพาดขาอีกข้างหนึ่งหน้าข้อเข่าในท่าเลข4 จากนั้นใช้แขนทั้ง 2 ข้างดึงขาเข้าหาตัวจนรู้สึกตึงที่ก้น ค้างไว้ 15-20 วินาที จำนวน 5 ครั้ง
  2. ท่ายืดกล้ามเนื้อ piriformis ในท่านั่ง: นั่งเก้าอี้ แล้วยกขาข้างที่ปวดขึ้นมาพาดขาอีกข้างหนึ่งหน้าข้อเข่า คล้ายกับเลข 4 จากนั้นค่อยๆก้มตัวลง ถ้ายังไม่รู้สึกตึงให้ก้มตัวลงไปเรื่อยๆจนรู้สึกตึง ให้ค้างไว้ 15-20 วินาที จำนวน 5 ครั้ง
  3. ท่ายืดกล้ามเนื้อหลังและสะโพก: นอนหงาย ยกขาข้างที่ปวดขึ้นมาไขว้ขาอีกข้างหนึ่ง จากนั้นใช้มือกดเข่าลง โดยแขนอีกข้างแนบกับพื้น ให้ค้างไว้ 15-20 วินาที จำนวน 5-10 ครั้ง
 

ท่าออกกำลังกาย

  1. Clamshell exercise: นอนตะแคง ขาข้างที่มีอาการขึ้นข้างบน งอเข่าและสะโพก 45 องศา ยกเข่าที่อยู่ด้านบนขึ้นบน พยายามให้เข่าชี้ขึ้นเพดาล แต่ให้เท้าสัมผัสกันตลอด 10-15 ครั้ง 3 รอบ สามารถใช้ Thera band คล้องที่บริเวณเข่าเพื่อเพิ่มความหนักของการฝึกกล้ามเนื้อ
  2. ท่าออกกำลังกายสะโพก และขา: นอนคว่ำ งอเข่าไม่เกิน 90 องศา ยกเข่าพ้นพื้น 10 ครั้ง 3 รอบ
 

การรักษาทางแพทย์แผนจีน

การฝังเข็ม บริเวณหลัง สะโพก และขา โดยการใช้เข็มเข้าไปกระตุ้นจุดกดเจ็บ หรือทางแผนจีนเรียกว่า จุดอาซื่อ ทำให้เลือดและชี่ไหลเวียนได้คล่อง จากนั้นกล้ามเนื้อจะเกิดการผ่อนคลาย สามารถลดอาการปวดลง
 

แนวทางการป้องกัน

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าเดิมนานๆ
  2. ปรับพฤติกรรมการใช้งานกล้ามเนื้อ เช่นไม่ใช้งานมากเกินไป
  3. การยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ
 
แหล่งที่มา
  • กรดา ผึ่งผาย และวริษฐา กังธีรวัฒน์.(2562) การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis syndrome). เวชบันทึกศิริราช, 12(1): 39-44.
  • https://www.physio-pedia.com/Piriformis_Syndrome
Pain Away LINE Account
Book Appointment