ปวดคอ (Neck Pain) เป็นอาการปวดกล้ามเนื้อคอที่หลายคนเป็นได้บ่อย ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีสาเหตุที่ร้ายแรง และสามารถทุเลาลงภายในไม่กี่วัน แต่อาการปวดต้นคอที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรง อย่างการได้รับบาดเจ็บหรือป่วยเป็นโรคที่ต้องรับการรักษาจากแพทย์ หากเกิดอาการปวดต้นคออยู่เรื่อย ๆ ติดต่อกันนานมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ หรือเกิดอาการชา มือและแขนอ่อนแรง หรือเจ็บแปลบที่ไหล่หรือแขน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษา

อาการปวดต้นคอ

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เกิดอาการปวดต้นคอนั้น มักปรากฏลักษณะของอาการดังต่อไปนี้

  • รู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อต้องหันคอไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นเวลานาน เช่น ขับรถหรือนั่งทำงานท่าเดิมนาน ๆ
  • กล้ามเนื้อตึงหรืออาจมีการกระตุก
  • หันศีรษะหรือคอไม่ค่อยได้
  • นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่
  • ชา
  • เสียวแปลบ
  • อาการอ่อนแรงของรยางค์ส่วนบน
  • กลืนอาหารลำบาก
  • ปวดศีรษะและวิงเวียนศีรษะ
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดหัว เจ็บใบหน้า ปวดไหล่ แขนชาและรู้เสียวแปลบ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นอาการที่เกิดจากเส้นประสาทคอถูกกดทับ และบางรายก็อาจเกิดอาการปวดหลังช่วงบนหรือหลังช่วงล่างด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากกระดูกสันหลังอักเสบด้วยโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis)

สาเหตุของการปวดต้นคอ

คอมีความยืดหยุ่นและทำหน้าที่รับน้ำหนักศีรษะ จัดเป็นอวัยวะที่เปราะบาง ได้รับบาดเจ็บและเกิดอาการปวดหรือแข็งเกร็งได้ง่าย โดยสาเหตุที่ทำให้ปวดต้นคอ แบ่งได้ดังนี้

  • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง เป็นอาการปวดต้นคอที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากกล้ามเนื้อแข็งเกร็งนั้นมาจากกิจกรรมหรือพฤติกรรมในการใช้งานกล้ามเนื้อคอที่ผิดท่าและนานเกินไป ได้แก่
  • จัดวางระเบียบท่าทางไม่ถูกต้อง
  • นั่งทำงานนานเกินไปโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ
  • นอนหลับแล้วหันคอผิดท่า
  • ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์หรืออ่านหนังสือเป็นเวลานาน
  • การได้รับบาดเจ็บที่คอ คอถือเป็นอวัยวะเปราะบาง เสี่ยงได้รับบาดเจ็บได้ง่าย โดยอาการบาดเจ็บที่คอเกี่ยวเนื่องกับการที่ศีรษะถูกกระชากทันที มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับการกระทบกระเทือนโดยไม่ทันตั้งตัว เช่น รถชน เป็นต้น ภาวะดังกล่าวทำให้ข้อต่อหรือเอ็นของคอได้รับความเสียหาย นอกจากอาการปวดต้นคอและคอแข็งแล้ว การได้รับบาดเจ็บที่คอยังทำให้กล้ามเนื้อคอตึง เคลื่อนไหวคอได้น้อยลงและจะเจ็บเมื่อต้องหันคอ รวมทั้งปวดหัวด้วย
  • ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative Disc Disease) มักเป็นสาเหตุอาการปวดต้นคอในผู้สูงอายุ บางครั้งก็เรียกภาวะนี้ว่า โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) มักไม่ปรากฏอาการ หากกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมอยู่ใกล้เส้นประสาทจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บลามไปตั้งแต่แขน เป็นเหน็บ และชาที่มือและขา ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีส่วนใหญ่จะเกิดกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมโดยอาจไม่มีอาการปวดต้นคอ
  • เส้นประสาทถูกกด (Pinched Nerve) อาการปวดต้นคอที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดนั้นมีสาเหตุมาจากโรครากประสาทคอ (Cervical Radiculopathy) โดยส่วนใดส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลังที่อยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลังนั้นแยกออกและมีเจลข้างในกระดูกนูนออกมาข้างนอกใกล้กับเส้นประสาท พบในผู้สูงอายุได้บ่อยกว่า เนื่องจากกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อมและสูญเสียมวลน้ำเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้กระดูกขาดความยืดหยุ่นและเสี่ยงต่อการกระดูกแยกได้ง่าย นอกจากปวดต้นคอแล้ว อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกชา เกิดอาการเหน็บชา แขนบางส่วนเจ็บและอ่อนแรง นอกจากนี้ภาวะของการกดทับเส้นประสาทจากกระดูกสันหลังช่วงคอ (Brachial Plexus) ที่ลอดบริเวณกระดูกไหปลาร้าสามารถทำให้เกิด อาการปวดคอ และอาจมีอาการแสบร้อน หรือเสียวชาบริเวณขาและมือได้เช่นกัน
  • การติดเชื้อ อาการปวดต้นคอยังมาจากการติดเชื้อที่พบได้ไม่บ่อย เช่น วัณโรค กระดูกอักเสบและหมอนกระดูกสันหลังอักเสบ (ทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (เกิดการติดเชื้อบริเวณเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหัวและเป็นไข้ร่วมกับอาการคอแข็ง)
  • ภาวะที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อคอ อาการปวดต้นคอสามารถเกิดจากภาวะอื่นที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อคอโดยตรง เช่น กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia) หรือภาวะปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนเหตุอักเสบเรื้อรัง (Polymyalgia Rheumatica: PMR)
  • อาการปวดต้นคออาจมาจากสาเหตุร้ายแรงหากผู้ป่วยเป็นมานานและอาการแย่ลงเรื่อยๆ รวมทั้งเกิดอาการต่อไปนี้
    • มีอาการอ่อนแรง หรือชาบริเวณแขนหรือมือ
    • ไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม
    • มีปัญหาการเดินและการเคลื่อนไหว
    • ร่างกายไม่สามารถควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้
    • เป็นไข้สูงและคอแข็งเกร็ง
    • น้ำหนักลดอย่างหาสาเหตุไม่ได้

การวินิจฉัยการปวดต้นคอ

แพทย์จะดูประวัติอาการปวดคอ อาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับอาการปวดคอ และการรักษาที่ผ่านมาของผู้ป่วย และตรวจดูว่าคอของผู้ป่วยเกิดอาการตึง ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงแค่ไหน รวมทั้งดูองศาการเคลื่อนไหวของคอ นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจเพื่อวินิจฉัยอาการด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

การตรวจด้วยภาพสแกน วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ใช้วินิจฉัยประกอบกับประวัติการรักษาของผู้ป่วยและการตรวจร่างกาย แพทย์อาจต้องทำการตรวจผู้ป่วยโดยใช้วิธีที่แสดงภาพกล้ามเนื้อคอให้เห็นชัดเจนขึ้น เพื่อวินิจฉัยอาการปวดต้นคอของผู้ป่วย ดังนี้

  • เอกซเรย์ ภาพเอกซเรย์จะแสดงบริเวณเส้นประสาทหรือกระดูกสันหลังที่อาจถูกกระดูกงอก (Bone Spurs) กดทับหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง
  • การทำซีทีสแกน การทำซีทีสแกนควบคู่ไปกับภาพเอกซเรย์คอจุดต่าง ๆ จะช่วยให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อคอได้มากขึ้น
  • การตรวจ ด้วยเอ็มอาร์ไอ วิธีนี้จะช่วยให้เห็นกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน รวมทั้งไขสันหลังและเส้นประสาทที่มาจากไขสันหลัง
  • การตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ นอกจากการตรวจด้วยภาพสแกนแล้ว ยังปรากฏการตรวจและวินิจฉัยอาการปวดต้นคอด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG) แพทย์จะตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อเมื่อคิดว่าอาการปวดต้นคอของผู้ป่วยอาจเกี่ยวข้องกับเส้นประสาทถูกกดทับ โดยแพทย์จะสอดเข็มผ่านผิวหนังเข้าไปและเริ่มทำการตรวจเพื่อวัดความเร็วของสัญญาณประสาท โดยความเร็วของสัญญาณประสาทจะช่วยให้รู้ว่าเส้นประสาทของผู้ป่วยทำงานปกติหรือไม่
  • การตรวจเลือด วิธีนี้จะช่วยให้รู้ว่าผู้ป่วยมีอาการอักเสบหรือติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งทั้งสองอย่างอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวดต้นคอ

การรักษาอาการปวดต้นคอ

วิธีรักษาอาการปวดต้นคอขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดต้นคอจากกล้ามเนื้อที่มีอาการไม่รุนแรงนั้น มักดูแลให้ดีขึ้นได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • การรักษาด้วยยา แพทย์จะจ่ายยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด ซึ่งประกอบด้วย
  • ยาพาราเซตามอล ผู้ใหญ่ควรรับประทานตัวยาขนาด 500 มิลลิกรัม จำนวน 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง
  • ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ผู้ป่วยบางรายที่รับประทานยานี้อาจดีขึ้นเมื่อเทียบกับยาพาราเซตามอล โดยสามารถรับประทานเฉพาะยาแก้ปวดลดการอักเสบอย่างเดียวหรือกินควบคู่กับยาพาราเซตามอลก็ได้ หากมีประวัติป่วยเป็นโรคกระเพาะ โรคหอบ ความดันโลหิตสูง ไตทำงานไม่ดี หรือหัวใจล้มเหลว อาจใช้ยาในกลุ่มนี้ไม่ได้หรือต้องติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
  • ยาแก้ปวดชนิดแรง หากยาแก้ปวดลดการอักเสบไม่ทำให้อาการดีขึ้น ผู้ป่วยอาจใช้ยาแก้ปวดชนิดแรงอย่างยาโคเดอีน (Codeine) แทน โดยยานี้ก่อให้เกิดอาการท้องผูกซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา ผู้ป่วยจึงควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีกากใยเพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • การใส่เฝือกชั่วคราว เฝือกอ่อนจะช่วยพยุงคอผู้ป่วย อาจช่วยให้อาหารปวดทุเลาลง โดยเฝือกจะช่วยลดแรงกดในการพยุงคอ อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องใส่เฝือกควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • การใช้วิธีการทางกายภาพบำบัดต่างๆ ดังนี้
    • การนวดคลาย เพื่อลดอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อคอและบ่า
    • การสอนให้ผู้ป่วยจัดระเบียบท่าทางให้ถูกต้อง
    • ใช้วิธีกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยความร้อน ความเย็น
    • การระงับปวดด้วยกระแสไฟฟ้า (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation: TENS) เพื่อช่วยลดอาการปวดต้นคอและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ จะวางขั้วไฟฟ้าไว้ตรงผิวหนังใกล้บริเวณที่เกิดอาการปวด โดยขั้วไฟฟ้าจะส่งกระแสไฟฟ้าออกมาเพื่อบรรเทาอาการปวดต้นคอ
    • การดึงคอ การรักษาด้วยวิธีนี้ค่อนข้างเหมาะกับผู้ที่มีภาวะของการกดทับเส้นประสาทส่วนคอ มีการสื่อมของการดูกส่วนคอทำให้เกิดการรบกวนกับระบบประสาทที่มีการส่งข้อมูลและสัญญาณต่างๆไปยังร่างกาย
    • การออกกำลังกาย ที่เสริมความแข็งแรงและช่วยจัดแนวของคอ รวมถึงการออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการตึงของกล้ามเนื้อบริเวณบ่า คอ และ ไหล่ ที่มักพบร่วมกันในอาการปวดคอ

การออกกำลังกายแบบเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ

Dumbbell Shrug

ยืนตรง ระยะห่างเท้าทั้งสอง เท่ากับความกว้างของไหล่ งอเข่าเล็กน้อย ถือน้ำหนักในมือแต่ละข้าง และปล่อยให้แขนห้อยลงมาทางด้านข้างลำตัว โดยหันฝ่ามือเข้าหาลำตัว ยักหัวไหล่ทั้งสองข้างขึ้นด้านบน เกิดการทำงานของกล้ามเนื้อ trapezius ในส่วนด้านบน ค้างไว้สักครุ่และลดระดับไหล่ลง ทำซ้ำประมาณ 8-12 ครั้ง/เซ็ต

One-Arm Row

ยืนและงอเข้าข้างหนึ่งบนด้วยเข่าข้างหนึ่งบนม้านั่งหรือเตียง โดย ถือน้ำหนักไว้ในมืออีกข้างของคุณ จากนั้นโค้งลำตัวไปข้างหน้าวางมือข้างเดียวกันกับเข่าบนม้านั่งเพื่อรองรับ ปล่อยให้มือที่มีน้ำหนักห้อยลงไปที่พื้น ดึงน้ำหนักขึ้นจนกระทั่งต้นแขนขนานกับหลังของคุณหยุดชั่วครู่แล้วลดน้ำหนักลง ทำซ้ำ 8-12 ครั้ง/เซ็ต สลับไปทางด้านซ้ายแล้วทำซ้ำ

Upright Row

ยืนตรง ระยะห่างเท้าทั้งสอง เท่ากับความกว้างของไหล่ ถือน้ำหนักที่ด้านหน้าของต้นขาทั้งสองข้าง โดยหันด้านของฝ่ามือเข้าหาลำตัว หลังจากนั้นยกน้ำหนักขึ้นในแนวตรง คล้ายๆกับการรูดซิปแจ็คเก็ต หลังจากนั้นลดระดับ กลับสู่ตำแหน่งเดิม ทำซ้ำ 8-12 ครั้ง ต่อชุด

Reverse Fly

นั่งบนเก้าอี้ในลักษณะโน้มลำตัวไปทางด้านหน้า ประมาณ 45 องศา ถือน้ำหนักไว้ที่มือทั้งสองข้างจากนั้นกางแขนออกและยกยกแขนขึ้นทางด้านข้างลำตัว โดยที่งอศอกเล็กน้อยในขณะยกขึ้นในระดับหัวไหล่. ค้างไว้สักครู่และลดระดับแขนลง ทำซ้ำ 8-12 ครั้ง/เซ็ต

Lateral Raise

ยืนตรง ระยะห่างเท้าทั้งสอง เท่ากับความกว้างของไหล่ งอเข่าเล็กน้อย ถือน้ำหนักที่มือทั้งสองข้าง จากนั้นออกแรงยกแขนทั้งสองข้างขึ้นทางด้านข้างลำตัวจนกระทั่งอยู่ในระดับหัวไหล่ และค่อยๆลดระดับของแขนลง ทำซ้ำ 8-12 ครั้ง/เซ็ต

Chin Tucks

นอกจากนี้การออกกำลังกายที่กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อกลุ่มกล้ามเนื้อชั้นลึกของคอ สามารถลดการทำงานกล้ามเนื้อคอชั้นตื้นไม่ให้เกิดการทำงานหนักและส่งผลต่ออาการปวดคออีกได้ ทำได้โดยการกดคางลง ในลักษณะให้มีคางสองชั้น ค้างไว้สักครู่ ทำซ้ำประมาณ 6-8 ครั้งดังรูป

การออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกล้าเนื้อคอ

ยืดคอ

ให้ร่างกายส่วนที่เหลือตรงจากนั้นดันคางไปข้างหน้าเพื่อยืดคอ ค่อยๆเกร็งกล้ามเนื้อคอและค้างไว้ 5 วินาทีและกลับมาในตำแหน่งเดิม จากนั้นดันไปทางด้านหลังค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง

เอียงศีรษะทางด้านข้าง

เอียงศีรษะของคุณลงไปทางไหล่ ค้างไว้ 5 วินาที และกลับมาที่จุดเริ่มต้นจากนั้นทำซ้ำในด้านตรงข้าม ทำซ้ำ 5 ครั้งในแต่ละด้าน

ก้มศีรษะลง

นั่งหรือยืนในลักษณะที่ถูกต้อง ควรนั่งลงหากว่ามีปัญหาเรื่องการทรงตัว จากนั้นค่อยๆเอียงศีรษะลงเพื่อบนหน้าอก ค่อยๆเกร็งกล้ามเนื้อคอค้างไว้ห้าวินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง

หันศีรษะ

หันศีรษะไปทางด้านใดด้านหนึ่งโดยที่รักษาระดับคางให้คงที่ กร็งกล้ามเนื้อคอของคุณค้างไว้ 5 วินาที ก่อนกลับสู่ที่เดิม และทำเหมือนกันในด้านตรงข้าม ทำซ้ำ 5 ครั้งในแต่ละด้าน

การป้องกันอาการปวดต้นคอ

ส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดต้นคอมักมีสาเหตุมาจากการจัดวางท่าทางไม่ถูกต้อง รวมทั้งภาวะกระดูกเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น การตั้งศีรษะให้ตรง อยู่ตรงกลางตามแนวกระดูกสันหลังคือวิธีป้องกันอาการดังกล่าว ซึ่งมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

  • จัดท่าทางให้ถูกต้อง เมื่อยืนหรือนั่งควรให้ไหล่ตั้งตรงอยู่ในแนวเดียวกับสะโพก เช่นเดียวกับใบหูที่อยู่เหนือไหล่ในแนวเดียวกัน
  • ควรเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ไม่ควรนั่งทำงานท่าเดิมนานเกินไป
  • จัดโต๊ะทำงาน โดยให้หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตา ปรับเก้าอี้ให้นั่งแล้วหัวเข่าอยู่ต่ำกว่าสะโพกเล็กน้อย และใช้เก้าอี้ทำงานที่มีที่พักแขน
  • ไม่ควรคุยโทรศัพท์โดยแนบไว้ระหว่างไหล่กับหู ควรเปิดลำโพงหรือใช้หูฟังในการคุยโทรศัพท์แทน
  • หยุดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้เสี่ยงเกิดอาการปวดต้นคอได้สูง
  • ไม่ควรแบกหรือสะพายกระเป๋าหนักๆ ไว้บนไหล่ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
  • ควรนอนให้ศีรษะและคออยู่ในแนวเดียวกับร่างกาย โดยใช้หมอนเล็กๆ รองคอไว้ นอนราบให้หลังติดที่นอนและใช้หมอนรองต้นขาให้สูงขึ้น
Pain Away LINE Account
Book Appointment