- ปวดคอค่ะ
- ปวดคอและร้าวลงมือลงนิ้วค่ะ
- รู้สึกชา หรือ เจ็บจิ๊ดๆ เหมือนไฟฟ้าช็อตบริเวณ หัวไหล่ แขน และมือค่ะ
- รู้สึกแขนอ่อนแอในบางครั้งค่ะ
- รู้สึกปวดคอแล้วมีปวดหัวร่วมด้วยค่ะ
เมื่อคนไข้มาด้วยอาการเหล่านี้ แน่นอนว่าเป็นกลุ่มอาการปวดคอ ซึ่งเป็นอาการที่พบมาก โดยเฉพาะคนวัยทำงาน หรือออฟฟิสซินโดรม และบางคนก็มีอาการปวดเรื้อรังมามากกว่า 1 เดือน ซึ่งอาการปวดคอที่จริงมีหลายชนิด มีหลายสาเหตุ แต่วันนี้เราจะมาอธิบายอาการปวดคอที่เกิดจากหมอนรองกระดูกคอทับเส้นกันค่ะ
หมอนรองกระดูกคืออะไร?
ก่อนอื่นเรามารู้จักส่วนประกอบของหมอนรองกระดูกกันก่อน แนวกระดูกสันหลังของเราประกอบด้วยกระดูกสันหลังจำนวน 30 ชิ้น เริ่มตั้งแต่กระดูกสันหลังส่วนคอ 7 ชิ้น กระดูกสันหลังส่วนกลาง 12 ชิ้น และกระดูกสันหลังส่วนล่างหรือเอวอีก 5 ชิ้น แต่ละส่วนของกระดูกสันหลังบริเวณคอ อก และเอวทั้ง 24 ชิ้นนี้ เชื่อมกันด้วยเนื้อเยื่อซึ่งเป็นแผ่นกลมเรียกว่าหมอนรองกระดูก ด้านในหมอนรองกระดูกมีลักษณะนุ่มเหนียว ส่วนด้านนอกแข็ง หมอนรองกระดูกช่วยให้หลังมีความยืดหยุ่นขณะเคลื่อนไหวและปกป้องกระดูกจากกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทกอย่างการเดิน ยกของ หรือบิดตัว ส่วนกระดูกสันหลังชิ้นที่ 25-30 เชื่อมต่อยาวมาถึงบริเวณก้นกบเป็นเส้นเดียวกัน ไม่มีหมอนรองกระดูกรองรับเหมือนกระดูกสันหลัง 24 ชิ้นแรก
เมื่อเราทำกิจกรรมหนักๆ หรือมีแรงกระแทกบริเวณนั้นมากๆ หมอนรองกระดูกจะค่อนข้างแข็งขึ้น ทำให้ความยืดหยุ่นน้อยลง หมอนรองกระดูกจะเตี้ยลง ลักษณะคล้ายกับ “ยางแบน” และเมื่อหมอนรองกระดูก ไปกดทับเส้นประสาทส่วนใด ก็จะมีอาการปวดแสดงออกมาตามแนวของเส้นประสาทนั้น เช่น ถ้าหมอนรองกระดูก ทับเส้นประสาทแถวตำแหน่งกระดูกคอข้อที่ 3 จะส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อ Deltoid และกล้ามเนื้อ Biceps brachii
ปวดคอจากหมอนรองกระดูกทับเส้นต่างจากปวดคอธรรมดาอย่างไร ?
อาการปวดคอโดยทั่วไป หากกดตามแนวกล้ามเนื้อจะรู้สึกเจ็บ เพราะกล้ามเนื้อเกิดอาการล้าจากการใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง หรือใช้งานผิดรูป แต่สำหรับอาการปวดคอที่เกิดจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท จะอยู่ลึกกว่า ฉะนั้นในผู้ป่วยบางคนเมื่อกดตรงคอจะไม่ค่อยเจ็บมากนัก แต่หากมีการกดทับเส้นประสาทบางส่วนอยู่ ก็จะทำให้ปวดร้าวไปตามแนวของเส้นประสาทนั้น อาจมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือตอบสนองผิดปกติ ประสาทสัมผัสผิดปกติ ทั้งนี้เพื่อความชัดเจนในการวินิจฉัยโรคผู้ป่วยควรทำการตรวจสแกนกระดูก(bone scans), MRIs, X-rays, CT scans, CT myelogram แล้วแต่ความเหมาะสมกับผู้ป่วยนั้นๆ
การรักษาด้วยการฝังเข็ม
สำหรับอาการปวดคอเพราะหมอนรองกระดูกทับเส้นนั้น การรักษาด้วยการฝังเข็มถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาอาการเจ็บ อาการชา อาการตึง และอาการอ่อนแรงของคอร้าวไปยังแขนและมือได้ อ้างอิงจากhealthcmi.com กล่าวว่านักวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบการรักษาแบบฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้ากับการใช้ยา Meloxicam หรือยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคข้ออักเสบ (Arthritis) พบว่าการรักษาแบบฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้าให้ผลการรักษาที่ดีกว่าทั้งในการรักษาระยะสั้นและในการรักษาระยะยาว
การฝังเข็มคือการฝังเข็มเข้าไปตรงจุดฝังเข็ม เป็นจุดแน่นอนที่ตั้งอยู่ตามเส้นลมปราณต่างๆ ซึ่งเชื่อมต่อกับอวัยวะภายใน กระตุ้นให้ชี่ หรือลมปราณหมุนเวียนดี นอกจากนั้นการฝังเข็มยังส่งผลไปยังระบบประสาทส่วนกลาง กระดูกสันหลัง สมองส่วนกลาง สมองส่วนไฮโปเทอรามัส และต่อมพิทูอิตาลี มีการวิจัยพบว่าการฝังเข็มยังสามารถช่วยเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือดทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น สามารถลดไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลและฟอสโฟไลปิดในเลือดได้ สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย และยังสามารถลดอาการปวดเรื้อรังได้ดีอีกด้วย ซึ่งมีงานวิจัยรับรองเรื่องการลดอาการเจ็บปวดเรื้อรังด้วยการฝังเข็มพบว่า 55% ถึง 85%ของผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดลดลง และอาการเจ็บปวดลดลงถึง 70% เมื่อเทียบกับการใช้ยา เช่น มอร์ฟีน ดังนั้นจึงเป็นแนวทางการรักษาที่ดีที่จะเอามาใช้ในการรักษาอาการปวดคอที่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้น
อาการเรื้อรังที่มากขึ้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาที่นานขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถช่วยตัวเองให้อาการดีขึ้นในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้นโดยการทานยาจีน ปรับเปลี่ยนอาหารการกินให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ออกกำลังกายและยืดเส้นร่วมไปด้วย