การเดินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของทุกผู้ทุกคน แต่หากเท้าข้างหนึ่งเกิดการบาดเจ็บขึ้นมาเราจะเดินอย่างปกติได้อย่างไร?

โดยการบาดเจ็บที่เท้าส่วนใหญ่ ผู้คนมักจะรู้จักกันในชื่อ รองช้ำ หรือ โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (plantar fasciitis) คือการอักเสบของเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บบริเวณส้นเท้าข้างในข้างหนึ่ง หรือบางรายอาจพบพร้อมกันได้ทั้งสองข้าง โดยการรักษาที่คนส่วนใหญ่มักได้รับคือการใช้คลื่นความถี่ หรือ ช็อคเวฟ จนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่ามันสามารถช่วยได้จริงหรือ? วันนี้เราจะมาไข้ข้อสงสัยกัน แต่เริ่มแรกเราคงต้องมารู้จักสาเหตุของโรครองช้ำกันก่อน

สาเหตุการเกิดรองช้ำ

  • เกิดจากกล้ามเนื้อน่องตึงตัว นานเข้าจึงเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณเส้นเอ็นร้อยหวาย จนเกิดความตึงตัวใต้ฝ่าเท้าและเกิดโรครองช้ำในที่สุด
  • เท้าแบน เมื่อเท้าแบนจะทำให้เกิดการรับน้ำหนักที่ผิดปกติใต้ฝ่าเท้า จึงส่งผลให้เอ็นใต้ฝ่าเท้าเกิดการยืดมากกว่าปกติเป็นเวลานาน จนทำให้สูญเสียความยืดหยุ่น และทำให้เกิดการบาดเจ็บในที่สุด
  • ยืนหรือเดินนานมากเกินไป ทำให้ฝ่าเท้าทำงานมากเกินไป จนเกิดการตึงตัวใต้ฝ่าเท้าของเส้นเอ็นและพังผืด
  • น้ำตัวที่มากเกินไป ทำให้ฝ่าเท้าต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ จึงเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ง่าย
  • คนสูงอายุ อายุที่มากขึ้นทำให้ความยืดหยุ่นของเอ็นและพังผืดใต้ฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นที่ลดลง

จากสาเหตุข้างต้นหากเป็นมานานและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดพังผืด และหินปูนงอกที่บริเวณส้นเท้า จนอาจทำให้เกิดการเจ็บปวดและการเดินยากลำบากยิ่งขึ้นได้

การรักษารองช้ำด้วย ช็อคเวฟ (shock wave)

ดังที่กล่าวข้างต้นว่าการรักษาส่วนใหญ่ที่คนไข้ได้รับคือการใช้คลื่นความถี่ หรือ คลื่นกระแทก ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า ช็อคเวฟ (shock wave) การทำงานของมันคือ การกระแทกจนเกิดการสั่นสะเทือนไปยังเนื้อเยื่อบริเวณที่บาดเจ็บหรือบริเวณที่มีการอักเสบ เพื่อไปกระตุ้นเร่งการซ่อมแซมบริเวณดังกล่าว เนื้อเยื่อจะหลั่งสารลดการอักเสบ รักษาฟื้นฟูเนื้อเยื่อจากการนำพาของการไหลเวียนโลหิต มักใช้ประมาณ 1000 – 3000 นัด ต่อ 1 จุดการรักษา ระยะห่างในการรักษาแต่ละครั้ง อาจอยู่ในช่วง 5–10วัน

ในโรครองช้ำนั้นผู้รักษามักจะเน้นตรงบริเวณที่มี หินปูนเกาะเอ็น (calcific tendinitis) ที่เป็นต้นตอของอาการเจ็บปวด เพื่อสลายหินปูนเหล่านั้น และกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนโลหิตมานำพาเศษซากของเสียออกไปจากบริเวณที่อักเสบ

ข้อดี คือ ร่างกายเกิดการกระตุ้นการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อ (tissue repair) ด้วยตนเอง

ข้อเสีย คือ ขณะที่ทำการรักษาจะมีอาการเจ็บ ตรงตำแหน่งที่มีการอักเสบ หรือ บาดเจ็บ เพื่อให้เกิดการรักษาตัวบริเวณนั้น

หลังจากการรักษาด้วยช็อคเวฟแล้ว ควรรักษาสาเหตุหรือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะนั้นร่วมด้วยเพื่อให้หายขาดจากโรครองช้ำ

  1. การลดการอักเสบด้วยการประคบเย็น หรือ แช่เท้าในน้ำแข็งผสมน้ำเย็น อัตราส่วน 1-1 เป็นเวลา 15- 20 นาที วันละ 1 – 2 ครั้ง
  2. การยืดกล้ามเนื้อรอบขา โดยแต่ละท่าทำค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 4 – 6 ครั้ง
  3. การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง ควรทำทุกวันเป็นประจำ สม่ำเสมอ 1 – 2 ครั้ง ต่อวัน
  4. การใช้แผ่นรองส้นเท้าที่เหมาะสมกับรูปฝ่าเท้าของแต่ละคน

จริงๆ แล้วช็อคเวฟไม่ได้เพียงรักษาแค่กลุ่มอาการรองช้ำ แต่ยังรักษาได้อีกหลายโรค ในกลุ่มโรคกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อที่มีการอักเสบเรื้อรัง ได้แก่

  1. ปวดฝ่าเท้าเรื้อรัง (โรครองช้ำ)/ปวดเอ็นร้อยหวาย
  2. เอ็นข้อศอกอักเสบ (Tennis / Golfer Elbow)
  3. ปวดไหล่เรื้อรัง ปวดข้อมือ พังผืดอุ้งมือ
  4. ปวดเข่า / บาดเจ็บจากกีฬา
  5. อาการปวดเรื้อรังในกล้ามเนื้อคอ บ่า หลัง
  6. ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ในรายที่มีกล้ามเนื้อเกาะตัวกันเป็นกลุ่มก้อน (trigger point) ที่สามารถทำให้เกิดการร้าวไปยังบริเวณอื่นๆ ได้

หวังว่าบทความนี้คงไขข้อสงสัย ที่ทุกคนมีต่อคลื่นกระแทก หรือ ช็อคเวฟได้ไม่มากก็น้อย แม้ในขณะรักษาจะมีการเจ็บค่อนข้างมากกว่าการรักษาชนิดอื่น แต่ก็นับเป็นการรักษาที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีใช้ระยะเวลาไม่นาน จึงถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

Pain Away LINE Account
Book Appointment