“ฟุตบอล” เป็นเกมการแข่งขันที่สนุกและนิยมกันมาก เนื่องด้วยทักษะ กลยุทธ์ในการเล่นเป็นทีม และการประสานงานร่วมกันของนักเตะแต่ละคน ซึ่งต้องฝึกฝนอย่างหนักเป็นเวลานาน ทำให้ยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการเล่นได้ อวัยวะสำคัญที่ใช้ในการเล่น คือ ขาและเท้า มักพบการบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ (Non-Contact Injury)
การบาดเจ็บที่พบได้บ่อย คือ ข้อเท้าพลิก
มักพบที่เอ็นด้านนอกของข้อเท้าและข้อเข่าจากการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้า ฯลฯ ก่อนเล่นจึงควรเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่พบบ่อย
-
ข้อเท้าพลิก (Ankle Sprain)
เกิดจากมีการบิด หมุน หรือพลิกของข้อเท้าจนเกินช่วงการเคลื่อนไหวที่ปกติ ทำให้เอ็นยึดข้อต่อถูกยืดออกมากจนเกินไปจึงเกิดการบาดเจ็บ มีอาการปวดและบวมตามมา หากรุนแรงมากอาจส่งผลให้เอ็นขาด สูญเสียความมั่นคงของข้อ ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยข้อเท้าแพลงต้องประสบกับภาวะข้อเท้าไม่มั่นคงเรื้อรัง (Chronic Ankle Instability) ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกิดการบาดเจ็บทางด้านนอกของข้อเท้ามากกว่าด้านใน เนื่องจากเวลาเกิดการพลิกข้อเท้ามักจะพลิกเข้าด้านใน อีกทั้งเอ็นกระดูกด้านในข้อเท้ายังมีความแข็งแรงกว่าอีกด้วย
ข้อเท้าแพลงแบ่งตามความรุนแรงได้ 3 ระดับ คือ
- ระดับที่ 1 ข้อเท้าแพลงชนิดไม่รุนแรง คือ เอ็นถูกดึงหรือยืดมากเกินไป ทำให้เอ็นบาดเจ็บ แต่เส้นใยของเอ็นไม่ฉีกขาด อาจจะพบเพียงบวมและกดเจ็บบริเวณเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บ สามารถเดินเดินลงน้ำหนักได้
- ระดับที่ 2 ข้อเท้าแพลงชนิดรุนแรงปานกลาง คือ มีการฉีกขาดของเอ็นบางส่วน ทำให้ข้อเท้ามีความมั่นคงลดลง ในกลุ่มนี้จะปวดและบวมค่อนข้างมากและอาจมีเลือดคั่ง จนอาจจะทำให้เดินลงน้ำหนักไม่ค่อยได้
- ระดับที่ 3 ข้อเท้าแพลงชนิดรุนแรงที่สุด คือจะมีการฉีกขาดของเอ็นทั้งหมด ทำให้ข้อเท้าสูญเสียความมั่นคง ในกลุ่มนี้จะมีอาการปวดบวมมากและมีเลือดคั่ง ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้มีเลือดคั่ง อาจต้องผ่าตัด
หลักการ R.I.C.E.
- R: Rest นั่งพักเพื่อสังเกตอาการจากข้อเท้าแพลง
- I: Ice ประคบเย็นเพื่อลดบวมและช่วยให้เลือกออกน้อยลง โดยประคบเย็นประมาณ 15 นาที ทุกๆ 2 ชม. ข้อห้ามไม่ควรประคบร้อน หรือนวดบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บในระยะแรกเพราะจะทำให้บวมมากยิ่งขึ้น
- C: Compression ใช้ผ้าพันบริเวณที่บวม และพยายามไม่เคลื่อนไหว ถ้าไม่จำเป็นเพราะจะทำให้ ปวดในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ
- E: Evaluation ยกปลายเท้าให้สูงขึ้น เพื่อลดบวมและลดความเจ็บปวด
-
เข่า (Knee)
เป็นส่วนที่เกิดอาการบาดเจ็บกันบ่อยก็คือ เอ็น (Ligament) ความมั่นคงของข้อเข่าจะเกิดจากเอ็นใหญ่ทั้งหมด 4 เส้น:
- เอ็นเข่าด้านนอก (Lateral Collateral)
- เอ็นเข่าด้านใน (Medial Collateral)
- เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament) และ
- เอ็นไขว้หลัง (Posterior Cruciate Ligament)
- เอ็นเข่าด้านข้าง (Collateral Ligaments) จะอยู่ด้านข้างของเข่า โดยมี Medial Collateral Ligament (MCL) อยู่ด้านข้างด้านใน และ Lateral Collateral Ligament (LCL) อยู่ด้านข้างด้านนอก เอ็นเหล่านี้จะควบคุมการเคลื่อนไหวไปด้านข้างของเข่าและต้านการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ มักมีสาเหตุมาจากโดนแรงกระแทกเข่าด้านข้าง MCL ฉีกขาดจากการกระแทกเข่าด้านข้างด้านนอกเข้าไปข้างในไปชนเข่าอีกข้าง โดยปกติ MCL มักจะได้รับการบาดเจ็บบ่อยกว่า LCL เนื่องจากโครงสร้างของเข่าด้านนอกจะซับซ้อนกว่า ดังนั้นถ้า LCL ได้รับการบาดเจ็บ โครงสร้างส่วนอื่นๆในเข่าอาจได้รับการบาดเจ็บตามไปด้วย
- เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด (Anterior Cruciate Ligament Injuries) เอ็นไขว้หน้าของข้อเข่า หรือ Anterior Cruciate Ligament คือเส้นเอ็นขนาดใหญ่เส้นหนึ่งที่อยู่ภายในเข่า โดยจะเกาะอยู่ระหว่างปลายกระดูกต้นขา (Femur Bone) และต้นกระดูกหน้าแข้ง (Tibia Bone) หน้าที่หลักคือ เสริมความมั่นคงให้แก่ข้อเข่า โดยเฉพาะในท่าเหยียดเข่าจนสุดนั้น จะทำให้เอ็นเส้นนี้ตึงมาก เพราะนอกจากจะเพิ่มความมั่นคงให้แก่ข้อเข่าแล้ว มันยังป้องกันไม่ให้เราเหยียดเข่าเกินองศา (Hyperextension) จนทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและผิวข้อเข่า
- เอ็นไขว้หลัง (Posterior Cruciate Ligament) คือเอ็นไขว้หลังก็ทำหน้าที่เหมือนกับตัว ACL เกิดจากโดนกระแทกที่ด้านหน้าเข่าหรือเกิดจากการก้าวพลาดขณะเล่นกีฬาในสนาม ดยส่วนมากแล้วนั้นจะไม่หนักเท่ากับ ACL ฉีกขาด แต่ก็ส่งผลให้มีอาการเจ็บ ปวด บวม และทำให้หัวเข่าขาดความมั่นคงเสียสมดุล
ระดับความรุนแรงของโรคออกได้เป็น 3 ระดับ
- ระดับที่ 1: เส้นเอ็นมีการอักเสบ ฉีกขาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยังคงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่รู้สึกถึงอาการเข่าหลวมแต่อย่างใด
- ระดับที่ 2: เส้นเอ็นมีการฉีกขาดเพียงบางส่วน รู้สึกปวดภายในเข่าลึกๆ มีอาการเข่าบวม ข้อเข่าไม่มั่นคง
- ระดับที่ 3: เส้นเอ็นขาดออกจากกัน ในขณะที่เส้นเอ็นขาดนั้นผู้ป่วยจะได้ยินเสียง “ป็อก” ภายในเข่า เข่าบวม ไม่สามารถเดินลงนํ้าหนักขาข้างที่มีปัญหาได้ รู้สึกเข่าหลวมในขณะที่เดินชัดเจน ซึ่งในระยะนี้ต้องเข้ารับการผ่าตัด
เส้นเอ็นนั้น เมื่อได้รับบาดเจ็บจะหายช้ากว่าทั้งกล้ามเนื้อและกระดูก เนื่องจากเส้นเอ็นจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงน้อยกว่า ทำให้เลือดที่มาหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นมีปริมาณน้อย การนำสารอาหารและการซ่อมแซมเนื้อเยื่อจึงทำได้ช้ากว่า ผลก็คือ การฟื้นฟูจึงใช้เวลานานกว่า ในรายที่ตรวจพบว่าเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเพียงบางส่วนไม่ต้องเข่ารับการผ่าตัดนั้น โดยทั่วไปจะรักษาเพื่อลดอาการปวด บวม และใช้เครื่องมือกายภาพในการเร่งให้เนื้อเยื่อซ่อมแซมตัวเองเร็วขึ้น เช่น ใช้เครื่อง ultrasound, laser, shortwave เป็นต้น และที่สำคัญคือการออกกำลังกายเพิ่มความมั่นคงของข้อเข่า เพราะอาการปวดอาจหายไป แต่เข่ายังคงหลวมอยู่เหมือนเดิม สุดท้ายก็กลับมามีอาการปวดเหมือนเดิม
-
ความเครียดของกล้ามเนื้อ (Muscle Strain)
กล้ามเนื้อส่วนใหญ่จะเป็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstring) มีหน้าที่ในการงอเข่า แต่การเล่นฟุตบอลต้องใช้กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าหรือกล้ามเนื้อในการเหยียดเข่า (Quadriceps) เป็นหลัก เพื่อวิ่งให้เร็ว เตะลูกฟุตบอลให้แรงและได้ความเร็วสูง เมื่อเหยียดเต็มที่จะไปดึงหรือกระชากกล้ามเนื้อ Hamstring ให้เหยียดไปด้วย จึงทำให้ Hamstring ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากโดยธรรมชาติกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าจะใหญ่และแข็งแรงกว่ากล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง ทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ง่าย จึงควรฝึกกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstring) ให้แข็งแรง โดยการใช้ Weight Training หรือ Resistance Training
-
ข้อเคลื่อน
ส่วนหัวหรือส่วนปลายของกระดูกเกิดการเคลื่อนหรือหลุดออกจากจุดเดิม โดยอาจจะมีสาเหตุจากการถูกฉุด ดึง หรือกระชากออกอย่างรุนแรง หรืออาจจะเกิดร่วมกับกระดูกหัก การฉีกขาดของกล้ามเนื้อ พังผืด ห้ามทำการดึงข้อเข้าที่เองอย่างเด็ดขาด ให้ทำการรักษาเบื้องต้นด้วยการให้ข้อพักนิ่งเอาไว้ และให้รีบประคบเย็นในทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมงตั้งแต่เกิดอาการ จากนั้นให้เอาผ้ายืดมาพันบริเวณที่เกิดอาการ และต้องยกให้สูงกว่าปกติเพื่อลดอาการบวม ผ่านไป 72 ชั่วโมงให้ทำการประคบร้อน
-
ตะคริว
เป็นอาการบาดเจ็บที่สามารถพบได้บ่อย มีสาเหตุมาจากการเกร็งของกล้ามเนื้อไม่ว่าจะมาจากกล้ามเนื้อเองที่ไม่ได้เตรียมพร้อมอบอุ่นร่างกายก่อนการเล่นกีฬา ทำให้เกิดมีของเสียที่มาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมาคั่ง อาจจะมีสาเหตุมาจากภายนอกเช่น สภาพอากาศ ความหนาวเย็น ฝน ความชื้น การป้องกันการเกิดตะคริวก็คือต้องทำการอบอุ่นร่างกายก่อนเล่นกีฬาทุกชนิดเสมอ ส่วนการรักษาเบื้องต้นสามารถทำได้โดยให้ประคบร้อนหรือนวดถูเบาๆ ช่วยให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวและมีกำลังในการยืดหดเหมือนเดิม นอกจากนี้ให้ใช้กำลังในการยืดกล้ามเนื้อ ก็จะช่วยบรรเทาอาการตะคริวได้
การรักษาทางกายภาพบำบัด โดยเทคนิคและวิธีต่างๆดังนี้
-
การรักษาด้วยเครื่อง (Ultrasound Combine High Voltage)
- ลดอาการปวด
- ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
- เพิ่มความยืดหยุนให้กับกล้ามเนื้อ
- กระตุ้นการไหลเวียนเลือด
- การเร่งให้เนื้อเยื่อซ่อมแซมตัวเองเร็วขึ้น
-
การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า
- ลดอาการปวด
- รักษาสภาพของกล้ามเนื้อไม่ให้เกิดการฝ่อลีบ
- ฟื้นฟูเส้นประสาทที่ถูกทำลาย
- บรรเทาอาการชา
-
การรักษาโดยการนวดและการยืดกล้ามเนื้อ
- คลายกล้ามเนื้อ ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
- เพิ่มการไหลเวียนของเลือด
- เพิ่มความยืดหยุนให้กับกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
-
แนะนำการยืดกล้ามเนื้อและการออกกำลังกาย
-
- http://www.arthroscopy.com/sp09005.htm
- http://www.mckinley.uiuc.edu/Handouts/anklesprain/anklesprain.html
- http://bjsm.bmj.com/content/39/6/319.full
- http://www.sportsinjuryclinic.net/sport-injuries/thigh-pain/tight-hamstring-muscles
- http://www.robbinsptwest.com/ankle-sprains-tips/
- https://targetcareers.co.uk/uni/top-unis-for-your-lifestyle/313603-top-universities-for-football
- https://coachhos.com/2018/03/20/who-is-at-the-greatest-risk-for-hamstring-strain/
- https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseases-treatment/laparoscopic-surgeryknee
- http://hed.go.th/news/4416