การนวด เป็นกรรมวิธีแรกที่มนุษยชาติเรียนรู้นำมาใช้เพื่อรักษาอาการปวด มีวิวัฒนาการ สั่งสม และสืบทอดในแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกระแสตอบรับการรักษาด้วยการนวดเพิ่มขึ้น การนวดบำบัดจึงได้ถูกบูรณา-การ จนกลายเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวงการแพทย์แผนใหม่

นิยามการนวด

การนวด หมายถึง การกระทำหรือการรักษาร่างกายด้วยแรง โดยอาศัยนิ้วมือ มือ ศอก เข่า แขน เท้า หรืออุปกรณ์ต่างๆ

วัตถุประสงค์การนวด

  1. เพื่อความผ่อนคลาย
  2. เพื่อการรักษา
  3. เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ

นวดแผนสวีเดน (Swedish Massage)

เป็นการนวดที่ใช้บ่อยในการรักษา MPS การนวดแผนสวีเดนเป็นแบบฉบับที่ใช้กันทั่วไปในงานปรับสรีระ และเป็นรูปแบบหลักทางการแพทย์ เนื่องจากมีการเรียบเรียงเนื้อหาอย่างสากล และเป็นต้นแบบของการวิจัยกลไกและผลการรักษา

เทคนิคการนวดแผนสวีเดน

  1. Stroking ลักษณะเหมือนการลูบไล้ แบ่งเป็น
    • Superficial Stroke นวดเนื้อเยื่อตื้นๆเป็นการเคลื่อนและสัมผัสอย่างเบาเพื่อให้เกิดการปรับตัวและผ่อน คลายของเนื้อเยื่อชั้นตื้น นิยมใช้เป็นขั้นตอนแรกในการนวด
    • Deep Stroke เป็นการรีดสารน้ำต่างๆใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อมีทิศทางการนวดเดียวกับการ ไหลเวียนของเลือดดำ หรือ น้ำเหลือง
  2. Kneading เป็นลักษณะคล้ายการบีบคลึงในการนวดแป้ง ใช้แรงปานกลาง โดยใช้มือกด ให้ถึงระดับเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง แล้วคลึงในทิศทางที่ขวางหรือตั้งฉากกับใยกล้ามเนื้อ จากนั้นบีบเนื้อเยื่อนูนขึ้นมาระหว่างมือแล้วค่อยๆเคลื่อนมือไปทั่วบริเวณที่จะนวด
  3. Friction ลักษณะคล้ายการบี้หรือขยี้ ใช้แรงค่อนข้างมาก โดยใช้นิ้วมือกดมีทิศทางการ นวดคือ คลึงเป็นวงกลม หรือ ไปหน้าถอยหลัง นิยมใช้นวดรักษาแก้ไขพังผืด และจุดปวดต่างๆตามร่างกาย
  4. Compression เป็นการนวดด้วยฝ่ามือ นิ้วมือ ข้อศอก ใช้แรงมากจนถึงจุดที่เริ่มเกิดอาการ ปวด แล้วค้างไว้ไม่เคลื่อนไหว 5-25 วินาท พัก 1 นาทีก่อนกดซ้ำจนอาการลดลงหรือหายไป
  5. Tapping ลักษณะการเคาะด้วยสันมือ หรืออุ้งมือ ใช้เป็นการนวดกระตุ้นร่างกาย บริเวณนั้นๆ

การนวดกดจุด (Acupressure)

เป็นการนวดที่จำกัดบริเวณเล็กๆ เป็นจุด อาจกดนิ่งๆหรือเคลื่อนไหวก็ได้ การนวดกดจุด เป็นคำที่มีความหมายจำกัดในแง่มุมของการนวดดั้งเดินแผนจีน ที่ใช้จุดนวดเดียวกับจุดฝังเข็ม ซึ่งเชื่อว่าเป็นปรับสมดุลพลังที่ไหลเวียนในร่างกาย ส่วนการนวดกดจุดแบบไทยอายุรเวทเชื่อว่าเป็นการปรับสมดุลการไหลเวียนเลือดลมตามเส้นประธานสิบ ปัจจุบันนิยมใช้การนวดกดจุดในการรักษา trigger point (TrP) โดยดัดแปลงการกดจุดบริเวณจุดฝังเข็ม จุดนวดเป็นการกดที่ TrP แทน

แนวคิดของการนวดกดจุดคือ ทำให้เกิด ischemic compression คือการกดจนถึงระดับที่ก่อให้เริ่มเกิดอาการปวด หรือระดับที่ปวดทนได้ ซึ่งเป็นแรงที่มากกว่าแรงดันในเส้นเลือดแดงฝอย เพื่อให้เกิดภาวะขาดเลือดชั่วขณะทำให้เกิดการคั่งค้างของเสียที่หลอดเลือดเกิดการขยายตัว เมื่อคลายแรงกดจะพบปฏิกิริยาตอบสนองให้มีเลือดไหลเวียนเพิ่มขึ้น เรียกว่า reactive hyperemia

การนวดจะต้องกดนานเท่าไหร่ กดแรงเพียงใด

การนวดกดจุดทั่วไปแบ่งระดับความรุแรงของการกด เป็น 3 ระดับ ได้แก่

  1. จุดที่เริ่มรู้สึกปวด (pain threshold)
  2. จุดที่ปวดมากที่สุดที่จะทนได้ (pain tolerance)
  3. จุดปวดปานกลางพอทนได้

ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละคน และตำแหน่งของร่างกาย และความไวของ TrP ที่ตำแหน่งนั้นๆ ระยะเวลากดนิยมแตกต่างกันตั้งแต่ 30 60 90 วินาที จากงานวิจัยของ Ismail พบว่าการกดจุด TrP นาน 30 วินาทีที่แรงเริ่มปวด เทียบกับแรงกดแรงสุดที่ทนได้ พบว่าไม่แตกต่างกัน

ผลของการนวด (Therapeutic Effects)

  1. ผลทางกลศาสตร์ (Mechanical Effects)
    • ทำให้มีการเคลื่อนไหว เป็นผลเฉพาะที่จากแรงนวด ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของใยกล้ามเนื้อ เปรียบเสมือน การยืดกล้ามเนื้อเฉพาะจุด ทำให้ taut band และ TrP ยืดคลายหรือสลายไป
    • ทำให้มีการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น เป็นการการแก้ไขภาวะพร่องการไหลเวียนเลือดและการ คั่งค้างของของเสีย จากการศึกษาพบว่าหลังจากการกดนวดพบว่ามี plasma myoglobin ในกระแสเลือด ซึ่งเป็นผลจากแรงนวดที่ทำให้ contraction knot แยกหรือฉีกออกจากกันและปล่อย plasma myoglobin ในกระแสเลือด
  2. ผลจากปฏิกิริยาของระบบประสาท (Reflex Effects)
    • การตอบสนองระดับไขสันหลัง การกระตุ้นปลายประสาทรับรู้ที่ TrP ด้วยแรงกดจะส่งผ่านเส้นประสาท A-beta fiber ที่มีขนาดใหญ่กว่าเส้นประสาทที่รับรู้การปวด คือ C fiber เมื่อถึงระดับไขสันหลังจะสกัดกั้นหรือบดบังความรู้สึกของ C fiber
    • การตอบสนองที่ระดับสมอง เมื่อกระแสประสาทส่งต่อจากไขสันหลังไปยังสมองส่วนบนจะมีการกระตุ้นให้มีการ หลั่งสารลดอาการปวดออกมา คือ endorphins ทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นวดกดจุดสะท้อน (Reflexology)

เป็นการนวดผ่าเท้าอาจรวมถึงผ่ามือและใบหูโดยมีความเชื่อว่าผ่าเท้ามีลักษณะคล้ายกับแผนที่ของร่างกายใช้วิธีการคล้ายการนวดกดจุดเป็นการปรับหรือส่งเสริมสุขภาพของอวัยวะต่างๆที่ตรงกับแผนที่ในฝ่าเท้าแต่ไม่พบหลักฐานว่าได้ผลทุกกรณีในทางการแพทย์แต่ส่งผลต่อการคลาย TrP บริเวณฝ่าเท้า

นวดแผนไทย

เป็นการนวดที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์แผนจีนและอินเดียแบ่งออกเป็น

  1. การนวดแบบราชสำนัก ที่เป็นการนวดกดจุดร่วมกับท่าฤาษีดัดตน
  2. การนวดเชลยศักดิ์ เป็นการนวดที่ใช้เท้า เข่า ศอก การดัดดึง คล้ายกับการนวดแบบสวีเดน

จากการศึกษาพบว่าการนวดแบบสวีเดน และการนวดแบบแผนไทยเชลยศักดิ์ ให้ประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันในเชิงสถิติ

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

ตามสภาของการรักษาด้วยศาตร์การนวด (General Council of Massage Therapy)

ห้ามนวดหรือระวังเฉพาะที่

  • บริเวณที่บาดเจ็บหรืออักเสบเฉียบพลัน
  • ตำแหน่งที่มีการผ่าตัดกระดูกและยังไม่ประสาน
  • ตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง
  • หน้าท้องและเชิงกราน ในสตรีตั้งครรภ์สามเดือนแรก
  • บริเวณเส้นประสาท
  • บริเวณที่เป็นโรคผิวหนังติดต่อ
  • ผู้ป่วยกระดูกบางรุนแรง
  • บริเวณเส้นเลือดขอด (ข้อควรระวัง)

ห้ามนวดหรือระวังทั้งหมด

  • ห้ามนวดในกรณีหลอดเลือดดำอักเสบและมีไข้สูง
  • ระวังในผู้ป่วยภาวะเลือดออกง่าย

ประโยชน์การนวด

การนวดจะได้ผลดีขึ้นอยู่กับผู้รักษาที่มีทักษะและประสบการณ์ที่จะสามารถค้นหา

TrP ได้ดี ถือเป็นหัวใจสำคัญของการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกตำแหน่ง

  • การนวดรักษามีผลต่อจิตใจลดความเครียดและวิตกกังวล
  • การนวดบริเวณกว้างๆเปรียบเสมือนการสำรวจ associated TrPs ที่ถูกมองข้าม
  • การนวดช่วยลดอาการปวดได้อย่างชัดเจน
Pain Away LINE Account
Book Appointment