บ่อยครั้งทีเรามีอาการปวดบริเวณคอ แต่เราเคยสังเกตุมั้ยว่าเวลาที่เราปวดคอนั้นลักษณะทางสรีระของคอเรามักจะไม่ตรง และมักจะมีอาการปวดร่วมขณะขยับคอไปยังมุมใดมุมหนึ่ง ซึ่งสาเหตุสำคัญของอาการปวดคอมักมาจากกดทับของข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยปกติเมื่อคิดถึงเรื่องกระดูก คนส่วนใหณ่จะนิยมใช้การจัดกระดูกโดยไคโรแพรคติค แต่ในทางกายภาพบำบัดเราจะเน้นในการค้นหาตำแหน่งของกระดูกที่มีการเคลื่อนไหนได้ไม่เต็มที่และใช้การขยับหรือคลายกล้ามเนื้อที่เป็นสาเหตุในการขัดขวางการเคลื่อนไหวของกระดูกนั้นแทน

ก่อนอื่นเราจะมาพูดถึงหน้าที่ของกล้ามเนื้อคอ คือ การคงสมดุลและทิศทางการเคลื่อนไหวของศีรษะ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อทั้ง 2 ซีกของร่างกาย ปัจจัยทางกลศาสตร์ที่ก่อให้เกิดปัญหาจึงมักจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อทั้งกลุ่ม โดยเฉพาะปัจจัยที่ส่งผลต่อเนื่องและซ้ำซาก โดยกล้ามเนื้อที่สำคัญที่ก่ออาการปวดคอมีดังนี้

1. Trapezius (Upper fiber) ปกติจะทำหน้าที่ช่วยควบคุมท่าทางศีรษะจากด้านหลังเพื่อให้อยู่ในภาวะสมดุลระหว่างหรือยืน กล้ามเนื้อมัดนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุของการปวดคอที่พบบ่อยมากที่สุด โดยจะเป็นอาการปวดร่วมกับอาการอ่อนแรงและฝืดตึง จำกัดการเคลื่อนไหวของคอ

2. Sternocleidomastoid ปกติจะทำหน้าที่ควบคุมและกำกับตำแหน่งและทิศทางการเคลื่อนไหวของศีรษะ ทำงานรับข้อมูลประสานร่วมกับทางสายตา โดยตัวกล้ามเนื้อจะแบ่งเป็นส่วนอยู่ตื้น sternal division และ ส่วนอยู่ลึก clavicular division อาการของกล้ามเนื้อมัดนี้จะมีอาการที่รุนแรงและหลากหลาย หากมีอาการจาก sternal division จะมีอาการปวดร้าวไปที่กลางกระหม่อมท้ายทอย บริเวณโหนกแก้มและเหนือกระบอกตา เจ็บคอเวลากลืนอาหาร แต่ถ้าเป็นที่ clavicular division จะมีอาการวิงเวียนเมื่อมีการเคลื่อนไหวของคอและศีรษะ บางครั้งมีอาการคลื่นไส้หรือหูอื้อร่วมได้

3. Splenius Capitis และ Splenius Cervicis ปกติทั้ง 2 มัดนี้จะทำงานคู่กันโดยมีหน้าที่ในการควบคุมการเงยหน้าและหมุนคอไปด้ายที่กล้ามเนื้อทำงาน หากมีปัญหาที่กล้ามเนื้อ 2 มัดนี้จะส่งผลให้เกิดอาการตึงคอและคอแข็งได้

4. Semispinalis Capitis ปกติจะควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะ ทำหน้าที่ในการเงยศีรษะ หากมีปัญหาที่มัดนี้จะส่งผลให้มาการปวดร้าวเป็นแถบรัดรอบบริเวณครึ่งศีรษะ

5. Semispinalis Cervicis ปกติจะควบคุมการเคลื่อนไหวของคอ ทำหน้าที่เงยและหมุนกระดูกก้านคอไปยังด้านตรงข้ามและเอียงกระดูกก้านคอมาทางด้านที่กล้ามเนื้อทำงาน หากมีปัญหาจะทำให้เกิดอาการปวดร้าวท้ายทอย

6. Multifidus และ Rotatores เป็นกล้ามเนื้อบริเวณคอด้านหลังชั้นที่ลึกที่สุด ทำหน้าที่เงยศีรษะและเป็นกล้ามเนื้อสำคัญในการจัดเรียงกระดูกคอให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หากมีปัญหาจะทำให้ปวดร้าวท้ายทอยและตึงจากหลังคอลงมาถึงบ่าและสะบักได้

ท่าทางที่ไม่เหมาะสมก็เป็นอีกหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการปวดคอ ท่าทางที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกลุ่มกล้ามเนื้อคอที่ใช้ในการควบคุมสรีระ เช่นท่าทางที่ศีรษะยื่นไปข้างหน้าร่วมกับการห่อไหล่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามบ่อยและความเคยชินปฏิบัติกันเป็นวลานาน ปกติศีรษะจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 12 ปอนด์ หรือ 5.44 กิโลกรัม เมื่อเรานั่งหน้าตรง กล้ามเนื้อคอจะทำงานในการประคองเพียงเล็กน้อย เนื่องจากกระดูกสันหลังคอจะช่วยรองรับน้ำหนัก แต่เมื่อนั่ง ในสรีระที่ศีรษะยื่นไปทางด้านหน้า กล้ามเนื้อที่คอที่อยู่ด้านหลังที่ใช้ในการคุมสรีระของศีรษะจะต้องทำงานมากขึ้นเหมือนน้ำหนักของศีรษะเพิ่มมากขึ้นประมาณ 10 ปอนด์ต่อ 1 นิ้วที่ศีรษะยื่นไปทางด้านหน้า

การแก้ไขสรีระด้วยการฝึกการบริหารปรับท่าทางบริเวณศีรษะ คอ บ่า ไหล่ เช่น การบริหารเก็บคาง (chin tuck exercise) เป็นประจำจะช่วยรักษาสรีระให้สมดุลได้ นอกจากนี้การบริหารยืดกล้ามเนื้อคอ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและการบริหารเพื่อเพิ่มแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอแบบ Isometric neck exercise เพิ่มการทนทนาของกล้ามเนื้อคอ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

Pain Away LINE Account
Book Appointment